แจงลดกักตัว 10 วัน เว้นประเทศมี ‘โควิด’ กลายพันธุ์ คนกักตัวต้องเซ็นยินยอมเสี่ยงติดเชื้อ

วันที่ 19 มีนาคม 2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีการติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 5 แสนราย โดยมีการพบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้ มากขึ้นในหลายประเทศ เพราะมีการให้ความสำคัญในการตรวจมากขึ้น ละเอียดมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็มีการให้ความสำคัญในการตรวจสายพันธุ์นี้เช่นเดียวกันซึ่งในคนที่มาจากยุโรป ก็อาจเสี่ยงน้อยกว่าคนเดินทางมาจากแอฟริกาใต้

นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการลดระยะเวลากักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศ ระยะที่ 1 ช่วง เม.ย. – มิ.ย. และระยะที่ 2 ก.ค.-ก.ย. จะลดการกักตัวเหลือ 10 วัน สำหรับคนต่างชาติที่มีเอกสารรับรองปลอดโควิด-19 ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง ส่วนคนไทยไม่จำเป็นต้องมี โดยจะตรวจหาเชื้อโควิด 2 ครั้ง คือ วันที่ 3-5 และวันที่ 9-10 ของการกักตัว แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์หรือกรณีได้รับวัคซีนและมีการทำข้อตกลงเอกสารรับรองวัคซีนหรือตามประกาศองค์การอนามัยโลก ส่วนคนที่เดินทางมาจากประเทศที่มีเชื้อกลายพันธุ์ตามประกาศของกรมควบคุมโรค ให้กักตัว 14 วันตามเดิม โดยตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง คือ วันที่ 0-1 วันที่ 6-4 และวันที่ 12-13 ของการกักตัว

“สำหรับระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป หากเป็นไปตามแผนการฉีดวัคซีนที่กำหนดไว้ ไม่ต้องกักตัว โดยพิจารณาจากสถานการณ์การระบาดในประเทศและต่างประเทศ และการได้รับวัคซีน คือ 1.บุคลากรการแทพย์และกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง ได้รับวัคซีนอย่างร้อย 70% 2.ประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวได้รับวัคซีนครบตามเป้าหมาย และ 3.เปิดรับนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำก่อน” นพ.เฉวตสรร กล่าว

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการผ่อนคลายกิจกรรมสำหรับสถานกักตัวทางเลือกให้ทำกิจกรรมได้มากขึ้น โดย เม.ย. สามารถใช้ห้องฟิตเนส ออกกำลังกายกลางแจ้ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน กรณีสถานที่ปิดและควบคุมได้ ซื้อสินค้าและอาหารจากภายนอก และประชุมสำหรับนักธุรกิจเข้ามาระยะสั้น ส่วนระยะที่ 2 ก.ค.เพิ่มกิจกรรมการรับประทานอาหารในห้องอาหารโรงแรม และการนวดเพื่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขคือ ผู้เข้ากักตัวต้องเซ็นยินยอมรับความเสี่ยงกรณีมีการติดเชื้อ ส่วนโรงแรมและ รพ.คู่ปฏิบัติการ ร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เช่น การสอบสวนโรค การกักกันโรค การตรวจหาเชื้อ และการทำความสะอาด เป็นต้น

นพ.เฉวตสรร กล่าวต่ออีกว่า สำหรับรายละเอียดของการผ่อนคลายการทำกิจกรรมในสถานกักตัว ต้องมีการกำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามขนาดของพื้นที่ โดยการออกกำลังกายกลางแจ้ง ฟิตเนส สระว่ายน้ำ กำหนดพื้นที่ 20 ตารางเมตรต่อคน ส่วนการขี่จักรยานขึ้นอยู่กับลักษณะสนาม โดยผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 จะเริ่มทำกิจกรรมได้ตั้งแต่วันที่ 5 ของการกักตัว แต่หากได้รับวัคซีนครบตามเงื่อนไขสามารถเริ่มทำกิจกรรมได้ตั้งแต่วันที่ 2 ของการกักตัว ส่วนการซื้อสินค้าและอาหารจากภายนอกเป็นไปตามข้อกำหนดของโรงแรม

อย่างไรก็ตาม ทุกกิจกรรมให้ยึดหลักเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ มีการทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกชิ้น ทุกพื้นที่ มีระบบการลงทะเบียนในการทำกิจกรรมล่วงหน้า และมีพื้นที่กิจกรรมตามแนวทางที่กำหนดจึงออกมาทำกิจกรรมได้

“สำหรับการดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 18 มี.ค. มีผู้รับวัคซีนแล้วทั้งสิ้น 62,941 ราย คิดเป็น 68% ของเป้าหมายการฉีดวัคซีน มีหลายจังหวัดฉีดวัคซีนครบ 100% แล้ว บางจังหวัดกำลังเร่งฉีด เช่น สมุทรสาคร ฉีดแล้ว 91.6% ส่วน กทม.ฉีดแล้ว 19% อยู่ระหว่างการเร่งรัดการฉีดให้ครอบคลุม ซึ่งระยะที่ 2 หากมีวัคซีนเข้ามาเพิ่มก็จะมีการฉีดในสถาบันการแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ก็จะทำให้ความรอบคลุมของวัคซีนในพื้นที่ กทม. สูงขึ้น เร็วขึ้น” นพ.เฉวตสรร กล่าว

เมื่อถามว่าต่างประเทศรายงานข่าวผู้สูงอายุติดเชื้อโควิดแล้ว มีโอกาสติดเชื้อซ้ำมากกว่าคนหนุ่มสาว นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ในส่วนของการวิจัยจะมีข้อค้นพบมากขึ้นเรื่อยๆ ทางฝั่งวิชาการของไทยก็ติดตามอย่างต่อเนื่อง การตอบสนองต่อวัคซีนที่เข้าไปกระตุ้นภูมินั้น ปกติในส่วนของผู้สูงอายุจะกระตุ้นได้น้อยกว่าคนหนุ่มสาวอยู่แล้ว ดังนั้นมีความแตกต่างตามกลไกธรรมชาติของแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม ต้องมีการรับไว้และศึกษาเพิ่มเติม แต่จากข้อมูลการติดเชื้อซ้ำไม่ได้เกิดขึ้นมากจึงต้องดูข้อมูลต่อไป แต่จากการศึกษาวิจัยทางคลินิกพบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้สูงในลักษณะที่ไม่ต่างกัน สามารถใช้ได้ในอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ดังนั้น ขออย่ากังวล แต่ขอให้ปฏิบัติตัวในการควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้น