อดีตทูต ชี้ “ประยุทธ์” ทำพลาดหนัก! ไปดอดพบ รมว.ต่างประเทศพม่า ทั้งที่โลกประณามรัฐบาลทหาร

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 รัศมิ์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ เจ้าของเพจ “ทูตนอกแถว” ได้ออกมาวิเคราะห์ท่าทีของรัฐบาลไทยต่อการเดินทางเยือนของ วันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศพม่าของชุดรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งได้เดินทางมาไทยเมื่อวานนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2564) หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยใช้ไทยเป็นพื้นที่ตรงกลางในการพบกันระหว่างรมต.ต่างประเทศพม่าและอินโดนีเซียในฐานะตัวแทนอาเซียนที่หารือหาทางออกจากภาวะตึงเครียดทางการเมืองในพม่าเมื่อประชาชนชาวพม่าออกมาต่อต้านรัฐประหารและไม่ยอมรับรัฐบาลทหารหรือสภาบริหารแห่งรัฐว่า
ไม่เขียนถึงคงไม่ได้ ก็เพิ่งรู้ว่าเดี๋ยวนี้นายกเขานั่งทำงานอยู่ที่สนามบิน 55
เรื่องการมาไทยของนายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศพม่าเมื่อวานนี้มีอะไรให้น่าพูดถึงเยอะหลายแง่มุมทีเดียว โดยเฉพาะในมุมมองทางการทูตและการต่างประเทศ
ผมเคยให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่าปัจจุบันนับเป็นยุคแห่งความท้าทายใหม่ของอาเซียนที่จะก้าวเดินต่อไปอย่างเข้มแข็งและเป็นพลังสำคัญในภูมิภาคนี้ได้อย่างไร แต่เดิมเมื่อก่อตั้งขึ้นมาเมื่อห้าสิบปีกว่านั้น สิ่งที่คุกคามประเทศสมาชิกคือภัยจากภายนอกเป็นหลัก แต่ทุกวันนี้สิ่งที่บั่นทอนอาเซียนกลับกลายตัวสมาชิกอาเซียนด้วยกันเสียเอง
สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ในแง่หนึ่งถือเป็นศักราชใหม่ของอาเซียนก็ว่าได้ ที่มีประเทศสมาชิกพยายามยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาทางการเมืองภายในของอีกประเทศสมาชิกหนึ่ง ซึ่งแทบไม่เคยปรากฎมาก่อนเพราะการยึดถือหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกันนั้นเป็นเสมือนกฎที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของอาเซียน
แต่ทุกวันนี้ปัญหาภายในของประเทศหนึ่งมันก็กระทบไปทั้งองค์กรรวมด้วย ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง อินโดนีเซียที่เป็นปัจจุบันนับเป็นประเทศประชาธิปไตยแถวหน้าของภูมิภาคและวางตัวเป็นพี่ใหญ่ของอาเซียนจึงออกโรงออกแรงเดินสายหารือกับสิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย ในการที่หาทางแก้ไขปัญหาพม่าโดยการใช้กลไกของอาเซียน ซึ่งเท่าที่อ่านมาก็มีหลายประเทศนอกภูมิภาคที่สนับสนุนแนวทางนี้
จึงเป็นที่มาของการทูตในแบบลับๆของการพบปะสามฝ่ายระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศพม่ากับอินโดนีเซีย (ที่บินเข้ามาเงียบๆก่อนหน้า) และไทย (ในฐานะเจ้าบ้าน) เมื่อวานนี้
(แต่แถมด้วยมีผู้นำแถวนี้โผล่ไปเจ๋อกับเขาด้วยแบบเผื่อได้หน้าอะไรกับเขาบ้าง ซึ่งที่จริงคือมันผิดมากๆหลายเด้ง)
เรื่องนี้ในแวดวงทางการทูตใครๆต่างก็รู้ดีว่าเป็นความริเริ่มของฝ่ายอินโดนีเซีย ส่วนไทยไม่มีปัญญาความคิดอะไรเองได้เพราะตัวเองก็สันหลังหวะ พูดไปก็เข้าเนื้อเข้าตัวเอง ก็ทำหน้าที่ได้แค่เอื้อเฟื้อสถานที่ให้เขาหารือกัน โดยเป็นเพียงตัวประกอบ เพราะไม่มีข้อเสนอที่สร้างสรรค์อะไร เป็นได้แค่อารมณ์ประมาณเด็กเสริฟน้ำ เก็บจานล้างจาน
ที่พอเขาคุยเสร็จแล้วก็กลับกันไป
แต่ก็เอาเถอะ เอื้อเฟื้อสถานที่ก็ยังดี ถือว่าได้มีส่วนช่วยเหลือการดำเนินของอาเซียนบ้าง แม้จะไม่มีอะไรเลยในแง่สารัตถะก็ตาม และอย่างน้อยมันก็อาจช่วยแก้ไขอะไรในพม่าได้บ้าง ผมเองมองว่าถ้าทางกองทัพพม่าเขามั่นใจว่าคุมสถานการณ์เอาอยู่ได้จริงร้อยเปอร์เซ็นต์ เขาคงไม่น่าบินมาคุยด้วยหรอกนะ
แต่ที่มัน fail มาก ผิดหลายเด้งคือที่ผู้นำแถวนี้รีบแจ้นไปพบฝ่ายพม่าที่สนามบินด้วยทั้งๆที่เขามีตำแหน่งที่ต่ำกว่า และก็มีรองนายก/รัฐมนตรีต่างประเทศไทยไปอยู่แล้ว โดยไม่ได้มีส่วนช่วยในการหารือในด้านสารัตถะแต่อย่างใด ซึ่งสิ่งนี้มันมองได้เช่นกันว่า ในขณะที่ทั่วโลกเขาประนามสิ่งที่เกิดขึ้นและรัฐบาลทหารพม่า การที่ผู้นำไทยทำเช่นนี้ ย่อมไม่ต่างกับการให้การรับรองรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าอย่างหนึ่งนั่นเอง
(ชึ่งเห็นได้ชัดจากภาพประกอบของ MRTV ของพม่าว่าฝ่ายเขาก็เอาการพบปะกับผู้นำไทยไปขยายผลสร้างการยอมรับ ความชอบธรรมเช่นกัน)
ก็ไม่รู้ไปทำไม ไม่รู้มีใครทักท้วงบ้างไหม คือคงอาจอยากได้หน้ากับเขาบ้าง แต่จริงๆคือผิดมากที่ทำแบบนี้นะครับ อย่างนัอยๆก็ผิดสามเด้ง
1.ผิดมารยาททางการทูตและทำให้ประเทศชาติเสียศักดิศรี
2. ผิดในแง่การต่างประเทศที่ทั่วโลกเขาต่างรุมประนามพม่าอยู่ขณะนี้ ซึ่งทำให้มองได้ว่าเป็นการให้การรับรองเผด็จการทหารพม่าอย่างหนึ่ง
3. ผิดกฎหมายที่ตัวเองกำหนดเอง เพราะไม่มีการกักตัวคนเดินทางเข้าประเทศก่อนด้วย การพบปะกันก็เพียงใส่หน้ากากอนามัยแค่นั้นเอง
จะอ้างว่ามีความห่วงกังวลมากต่อสถานการณ์ในพม่าจึงต้องไปเอง แล้วฟังรายงานจากลูกน้อง หน่วยต่างๆมากมายเอาไม่ได้หรือ? ที่ไปแล้วตัวเองมีข้อเสนออะไรที่สร้างสรรค์จะไปคุยกับเขาหรือก็เปล่าอีก แล้วก็มาอ้างว่าการไปนี่คือ “การให้เข้าเยี่ยมคารวะ” ทั้งๆที่ตัวเองตำแหน่งสูงกว่าแต่กลับเป็นฝ่ายแจ้นไปพบเขาเอง ก็ไม่ทราบใครคิดคำอธิบายแก้ต่างนี้ มันไม่ฉลาดและเชยมากนะครับ
หรือว่าเดี๋ยวนี้ผู้นำไทยนั่งทำงานอยู่ที่สนามบินนี่เอง 555