“จาตุรนต์” ชี้ 5 เรื่องจุดตาย ศึกซักฟอกรัฐบาล “ประยุทธ์” สิ่งสำคัญกว่าคือปชช.รู้ข้อเท็จจริงแล้ว

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในท่าทีสรุปประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจตลอด 4 วันที่ผ่านมาก่อนจะมีการลงมติกันในวันพรุ่งนี้( 20 กุมภาพันธ์ 2564) ว่า

จุดตายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

วันนี้เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 4 ถ้าจะให้ผมประเมินการทำหน้าที่ของทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ผมคิดว่าในส่วนของฝ่ายค้านมีข้อมูลที่หนักแน่นและชัดเจนเป็นจำนวนมาก จนทำให้เห็นปัญหาในการทำงานของรัฐบาล ทั้งในแง่การบริหารที่ล้มเหลวและการทุจริตคอร์รัปชั่น
แต่กลับเป็นเรื่องที่แปลกมากครับ เพราะปกติหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะมีการให้คะแนนกันว่าประเด็นไหนชี้แจงได้เคลียร์หรือไม่ หรือประเด็นไหนยังไม่ได้ชี้แจง แต่รัฐบาลนี้ใช้วิธี “ไม่ชี้แจงเลย”
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจใช้วิธีอยู่ 3 แบบ
1. พูดหลักการกว้างๆ ตอบคำถามโดยอ่านจากโพยที่เขียนมา โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่ไม่ชี้แจงประเด็นต่างๆ เลย แต่เน้นพูดแค่หลักการกว้างๆ อยู่ตลอด
2. พูดถึงนโยบายและสิ่งที่ตนตั้งใจจะทำหรือคิดจะทำ เหมือนกับการมาแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
3. ใช้วาทกรรม ใช้โวหาร ใช้ลีลาของการเป็นนักพูด แต่พูดเรื่องที่ไม่ตรงประเด็นกับที่ฝ่ายค้านอภิปรายไว้
เพราะฉะนั้น “รัฐบาลสอบตก” ในการชี้แจงครั้งนี้ และยังมี “จุดตาย” หลายเรื่องมาก ได้แก่
● เหมืองทองอัครา ● เป็นเรื่องชัดเจนว่าพลเอกประยุทธ์ทำผิดในฐานะหัวหน้าคสช. และพอจะไปแพ้ที่อนุญาโตตุลาการ รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมจึงไปเจรจายกประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนให้ไปสำรวจที่รวมแล้วจะเป็นล้านไร่ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายที่พลเอกประยุทธ์จะต้องรับผิดชอบมากกว่าสองหมื่นล้าน ซึ่งการชี้แจงนี้นายกฯกลับชี้แจงไม่ได้ และพูดแค่หลักการทั่วไปในการให้อนุญาตทำเหมืองแร่เท่านั้น
● วัคซีน ● ล่าช้าและผูกขาดอยู่เพียงบางบริษัท เรื่องนี้จะส่งผลต่อสุขภาพความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนทั้งประเทศรวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งนายกฯ ชี้แจงไม่ได้เลย พูดแบบข้างๆคูๆ ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่เข้าร่วมโครงการอย่างโคแวกซ์เหมือนที่ร้อย ๆ ประเทศเข้าร่วม ยิ่งละเลยต่อไปเรื่องนี้จะกระทบไปถึงเรื่องเศรษฐกิจซึ่งฝ่ายค้านก็ให้ข้อมูลได้มากว่ารัฐบาลนี้ล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจมากมายมหาศาลเพียงใด
● ถุงมือยาง ● ผิดทั้งในแง่ไม่ทำตามนโยบายที่จะส่งเสริมการแปรรูปยางพารา และการไปทำสัญญากันปลอมๆเป็นแสนล้านเพื่อจะเอาเงินออกไป ที่สำคัญคือฝ่ายค้านพูดให้เห็นว่าผู้ที่ไปดำเนินการเป็นคนที่เชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับรัฐมนตรี และตรงนี้รัฐมนตรีก็ชี้แจงไม่ได้
● ที่ดินรถไฟบุรีรัมย์ ● ชัดเจนว่าศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่าที่ดินแปลงนี้เป็นที่ดินของการรถไฟ ใครจะมามีเอกสารสิทธิ์ไม่ได้ แต่ในที่ดินนั้นกลับมีที่ของรัฐมนตรีอยู่ด้วย และเป็นเหมือนเคยที่การชี้แจงก็ไม่ตรงประเด็นเลย
● การยกเลิกประมูลรถไฟสายสีส้ม ● ถ้าฟังดูแล้วเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแน่นอน เพราะไม่สามารถยกเลิกตามอำเภอใจกันได้แบบนี้ และคณะที่ยกเลิกก็เป็นคณะที่ประชุมกันอยู่โดยบุคคลที่ไม่ควรเข้ามาในที่ประชุม ทั้งมีการคัดค้านโต้แย้งโดยสำนักงบประมาณแต่ก็ไม่ฟัง แม้กรณีนี้จะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีแน่ แต่ปัญหาก็คือมันเป็นความผิดในการบริหารงานของรัฐมนตรี และกลับชี้แจงไม่ได้เช่นเดียวกัน
ในการอภิปรายครั้งนี้ ถ้าถามว่าแล้วรัฐบาลจะผ่านไหม จะยกมือกันอย่างไร คงต้องดูฝ่ายค้านอภิปรายต่อไปถึงขั้นสรุป
หากเป็นในภาวะปกติที่พรรคการเมืองต่างๆคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน จะต้องถึงขั้นมีการถอนตัว และถึงขั้นรัฐบาลอยู่ไม่ได้
แต่ครั้งนี้พิเศษตรงที่ว่าพรรคแกนนำของรัฐบาลโดนหนัก นายกรัฐมนตรีโดนหนัก และพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นพรรคใหญ่ก็โดนหนักเช่นเดียวกัน ทั้งหมดชี้แจงไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเสียงแตก ไม่ยกมือให้กัน หรือรัฐมนตรีบางคนเสียงน้อยผิดปกติ “ก็คงไม่เกิดขึ้น”
แต่ถึงอย่างไรสิ่งที่จะเป็นประโยชน์คือประชาชนได้ข้อมูลข้อเท็จจริง แล้วจะเป็นคนตัดสินว่ารัฐบาลนี้ควรที่จะบริหารประเทศต่อไปหรือไม่? รัฐมนตรีคนไหนควรที่จะได้รับการไว้วางใจให้เป็นรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่อย่างไร?