ปล่อย 4 นักเคลื่อนไหว : “รุ้ง-ปนัสยา” เดินสายยื่นจม.เปิดผนึก ทวงถามสำนึก-หลักกระบวนการยุติธรรม

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎร จัดการนเดินสายเข้าพบหน่วยงานด้านยุติธรรม 5 แห่ง เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกของเเนวร่วมธรรมศาสตร์เเละการชุมนุม เรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ทั้งที่ควรได้รับประกันตัวตามหลักกระบวนการยุติธรรม แต่ศาลกลับมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว จนเกิดคำถามขึ้นเป็นวงกว้าง

โดยที่แรก ปนัสยา ได้เดินทางเยือนศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. เพื่อส่งจม.เปิดผนึกถึงศาลรัฐธรรมนูญ โดยได้อ่านแถลงการณ์ท่ามกลางสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ สาระสำคัญของแถลงการณ์คือ

“เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาคดี #ม112 ท้ายแถลงการณ์เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเช่น กระทรวงยุติธรรม ศาลอาญา ศาลรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม ซึ่งหลักการดังกล่าวรัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ แสดงความกังวลว่าการไม่ให้ประกันจำเลยคดี #ม112 ขณะที่จำเลยคดีร้ายแรงอื่นๆ เช่น ฆ่าคนตายโดยเจตนา กลับได้รับการประกันตัว จะสร้างมาตรฐานและข้อครหาต่อกระบวนการยุติธรรม”

ต่อมา 10.46 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มอบหนังสือตอบรับให้ปนัสยา

“กระทรวงยุติธรรม” เป็นเพียงปลายน้ำ

จากนั้นเวลา น.ส.ปนัสยาเข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงยุติธรรมพร้อมอ่านแถลงการณ์ โดยมี นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับหนังสือ โดยทางกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ได้เรียกร้องให้ศาลอนุญาตให้ประกันตัว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นายอานนท์ นำภา และผู้ต้องหาทางการเมืองทั้งหมด

โดยขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา การออกหมายจับ เป็นกรณีที่ตำรวจจะต้องไปขออำนาจศาลดำเนินการทั้งสิ้น เมื่อผู้ถูกจับอยู่ในการควบคุมของตำรวจแล้ว ตำรวจจะนำตัวมาส่งศาลในเขตอำนาจ การสั่งให้ควบคุมตัวระหว่างดำเนินคดีอยู่ในอำนาจของศาลเช่นกัน โดยบุคคลเหล่านี้จะอยู่ในการควบคุมดูแลของเรือนจำหากไม่ได้รับการปล่อยตัว ทั้งนี้ การจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลเหล่านี้หรือไม่ ย่อมเป็นอำนาจของศาลในการพิจารณามีคำสั่ง กระทรวงยุติธรรมไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ ในการสั่งปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลเหล่านั้นได้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

“กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานปลายน้ำ ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมเน้นทำงานเชิงรุกในการเข้าถึงประชาชน ให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการทางกฎหมาย ให้บริการประชาชนเข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่ควรได้รับ พัฒนากระบวนการต่างๆ จนดีขึ้นกว่าเดิม ยืนยันว่าเราจะเดินหน้าเคียงข้างประชาชน ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เน้นย้ำมาตลอด” นายวัลลภกล่าว

ย้ำหลักจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนจนกว่ามีคำพิพากษา

หลังเสร็จสิ้นภารกิจหน้ากระทรวงยุติธรรม น.ส.ปนัสยา เดินทางถึงศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลาราว 12.00 น. น.ส.ปนัสยา ได้ออกมาอ่านแถลงการณ์ก่อนเข้ามายื่นหนังสือ โดยมี น.ส.ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา เป็นผู้รับมอบ

น.ส. ปนัสยา กล่าวว่า เราอยากให้ศาลรับทราบและให้ความสำคัญว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา เช่นนั้นแล้วการปฏิบัตินั้นศาลจะทำเหมือนกับว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้ เราจะให้ถูกขังระหว่างพิจารณาคดี ทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุดไม่ได้ ต้องให้สิทธิประกันตัวเช่นเดียวกับคดีอื่นๆ ในประเทศนี้แม้แต่คดีฆ่าคนโดยเจตนายังได้รับการประกันตัว ดังนั้นในคดีการเมืองก็ต้องได้รับประกันตัวเช่นกัน

ในวันนี้ที่เราเดินทางมาทั้ง 5 แห่ง เพราะเป็นสายธารของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเห็นภาพได้ชัดเจน อย่างมาที่ศาลอาญา เพราะว่าคดีนี้เป็นคดีอาญาและมีคำสั่งไม่ให้เพื่อนเราได้ประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ หลังจากนี้เราก็จะเดินทางไปที่สำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป

เมื่อถามว่า มีนัยยะสำคัญอย่างไรจึงต้องเดินทางไปที่สำนักนายกรัฐมนตรี

น.ส.ปนัสยาตอบว่า เกี่ยวกับนโยบายในการจัดการกับผู้ชุมนุม ซึ่งนโยบายต้องมาจากรัฐบาล ส่วนสตช.เกี่ยวข้องตรงที่กระบวนการทางการฎหมายจะเริ่มที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อนเป็นที่แรก เริ่มตั้งแต่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา หรือมีการใช้อำนาจเกินขอบเขต

เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเกินไปจากการควบคุมดูแลของเราบ้าง

น.ส.ปนัสยา ตอบว่า ขอโทษอย่างจริงใจกับผู้ชุมนุมที่เราไม่สามารถดูแลสถานการณ์ได้ ซึ่งเหนือความคาดหมายมากจริงๆ แต่หลังจากนี้ยืนยันให้ความเชื่อมั่นว่าจะดูแลพวกเราทุกคนเป็นอย่างดี ในวันพรุ่งนี้ตนมีคดีความและอาจจะไม่อยู่แล้ว แต่ว่าคนที่เหลือพร้อมจะทำหน้าที่เพื่อให้กระบวนการเคลื่อนไหวของเราไปสู่จุดหมายในที่สุด โดยที่จะไม่มีใครเจ็บตัวหรือเจ็บตัวให้น้อยที่สุด อันนี้คือความปลอดภัยของผู้ชุมนุม
เมื่อถามว่าการมายื่นหนังสือครั้งนี้เป็นการกดดันศาลหรือไม่

น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะนี้เป็นการมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมตามขั้นตอนปกติ ไม่ได้เป็นการกดดันศาลแต่อย่างใด

ตั้งเเต่ช่วงเช้าเจ้าหน้าที่ประจำศาลอาญาได้มีการเตรียมความพร้อมหน้าศาลอาญา โดยมีการนำแผงเหล็กมาวางเป็นแนวกันบริเวณด้านหน้าประตูทางเข้า พร้อมเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก กองบังคับการตำรวจนครบาล 2 ตำรวจ สน.พหลโยธิน และ กองร้อยควบคุมฝูงชน บก.น.2 จำนวน 60 นาย ทั้งในและนอกเครื่องเเบบตั้งแถวเรียงยาวดูแลความเรียบร้อยป้องกันกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

โดยก่อนหน้านี้ น.ส.ปนัสยาเริ่มอ่านจดหมายจากศาลรัฐธรรมนูญ ต่อด้วยกระทรวงยุติธรรม ก่อนมายังศาลอาญารัชดาฯ ต่อไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เเละจุดสุดท้ายคือสำนักนายกรัฐมนตรี

จากนั้นเวลา 13.30 น. น.ส.ปนัสยา เดินทางถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยอ่านเเถลงการณ์หน้าป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม หลังจากนั้นได้เข้ามายื่นหนังสือ โดยมี พ.ต.อ.เกรียงไกร บุญซ้อน รอง ผบก.กองตำรวจสื่อสาร เป็นผู้รับมอบ