‘แอมเนสตี้’ อัดรัฐไทยอ้างความมั่นคง ปิดปากนักกิจกรรม ขัง 4 นักเคลื่อนไหว

สืบเนื่องจากกรณีที่อัยการสั่งฟ้อง โดยศาลไม่ให้ประกันตัวแกนนำ 4 คน พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภา สมยศ พฤกษาเกษมสุข และปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาอื่น จากการชุมนุม “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” ณ สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 – 20 กันยายน 2563 โดยพริษฐ์ถูกสั่งฟ้องมาตรา 112 อีกหนึ่งคดีจากการชุมนุม “ม็อบเฟส” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า “ทางการไทยยังคงใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมโดยมิชอบ เพื่อปิดปากไม่ให้บุคคลวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและปัญหาสังคม และเป็นส่วนหนึ่งในการยืนยันถึงรูปแบบการคุมขังอย่างยาวนานก่อนพิจารณาคดีของผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 ภายใต้บริบทของความมั่นคงของรัฐ”

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังคงเน้นย้ำให้ว่าการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งทางการไทยได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ อีกทั้งการใช้เสรีภาพดังกล่าวยังถูกระบุในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2560 อีกด้วย”

สำหรับความเคลื่อนไหวทางคดีความของ 4 นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความของนายพริษฐ์ จำเลยในคดี อ.286/2564 พร้อมด้วย นายพงษ์สิทธิ์ นาเมืองรักษ์ ทนายความของนายพริษฐ์,นายอานนท์,นายสมยศ แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร จำเลยในคดี อ.287/2564 เดินทางมายื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวของศาลอาญาในคดีที่กลุ่มจำเลยถูกพนักงานอัยการส่งฟ้องข้อหาตามความผิด มาตรา 112, มาตรา 116, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ ป.อาญา มาตรา 215, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะฯ, ร่วมกันกีดขวางการจราจรฯ, ตั้งวางวัตถุบนถนนอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายฯ, ทำลายโบราณสถานฯ, ทำให้เสียทรัพย์ฯ และร่วมกันโฆษณาเครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ รวม 11 ข้อหา จากคดีการชุมนุม 19-20 ก.ย. 2563 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์-สนามหลวง (เพนกวินมีชุมนุมม็อบเฟสฯ14 พ.ย.ด้วย)

โดยขณะนี้มีรายงานว่าอยู่ระหว่างศาลอุทธรณ์พิจารณาคำสั่ง

ก่อนหน้านี้ ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ภายหลังพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดี โดยพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระ ตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง