นักวิชาการ ห่วงการเมืองไทยแรง หลัง ส.ส.พปชร.-ส.ว.ตีรวนยื้อแก้รธน.

เมื่อวานนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2564) รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อความตึงเครียดในรัฐสภาหลัง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ส.ว.วุฒิสภาแต่งตั้งและส.ส.พรรคเล็ก ได้โหวตเห็นชอบญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากนักการเมืองและสังคมต่อการกระทำที่ถูกมองว่าขัดขวางไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ถูกกล่าวขานว่า “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ว่า

การที่สมาชิกรัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ “อำนาจของตนเอง” ในการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ว่า ส.ส. และ สว. เหล่านี้ ไม่เข้าใจอำนาจหน้าที่ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ (separation of powers) จนต้องไปพึ่งพาการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่เป็นเพราะว่าคนกลุ่มนี้ ใช้ทุกวิถีทางเพื่อสร้างกำแพงขวางกั้นให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการสืบสานอำนาจของระบอบทหาร ที่ตนเองได้เกาะเกี่ยวรอรับผลประโยชน์ เกิดขึ้นไม่ได้ หรือ เกิดขึ้นได้ช้าที่สุด

การกีดขวางการแก้รัฐธรรมนูญภายใต้บรรยากาศทางการเมืองเช่นนี้ อาจส่งผลด้านกลับ 2 ประการ คือ

1. รัฐธรรมนูญขาดความชอบธรรม ส่งผลให้นับวันคนยิ่งขาดศรัทธา ไม่เชื่อถือ ไม่ยอมปฏิบัติตาม

2. รัฐธรรมนูญทั้งฉบับถูกทดแทนโดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะไม่ต้องวุ่นวายปวดหัวกับข้อจำกัดที่ไร้เหตุผล ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แม้วิธีการร่างใหม่ทั้งฉบับอาจใช้เวลานานกว่า และเงื่อนไขของการเกิดขึ้นอาจยากลำบากและไม่ราบรื่นนัก

ตัวเลขที่น่าสนใจของการยื่นญัตติยื้อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ 316 เสียงที่ลงมติไม่เห็นด้วย (เกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร)

เพราะนอกจากจะประกอบด้วยแนวร่วมฝ่ายค้าน ได้แก่ เพื่อไทย 123 ก้าวไกล 51 เสรีรวมไทย 9 ประชาชาติ 5 เพื่อชาติ 5 เศรษฐกิจใหม่ 2 พลังปวงชนไทย 1 แล้ว

ยังสมทบทัพด้วยพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ ภูมิใจไทย 60 ประชาธิปัตย์ 47 ชาติไทยพัฒนา 12 และ ไทยศรีวิไลย์ 1

การโหวตสวน ของพรรคร่วมรัฐบาลในญัติติสำคัญนี้ สะท้อนความขัดแย้งที่หากประนีประนอมไม่ได้ ย่อมส่งผลสะเทือนต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจและเสถียรภาพของรัฐบาล

ส่วนตัวเลขพรรคร่วมฝ่ายค้านที่งดออกเสียง/ (ตั้งใจ) ขาดประชุม (เพื่อไทย 10 ก้าวไกล 2 ประชาชาติ 2 และฝ่ายรัฐบาล พลังประชารัฐ 8 คน ชาติพัฒนา 4 ภูมิใจไทย 1 ประชาธิปัตย์ 3) น่าจะบอกเค้าลางของการก่อรูปพรรคการเมืองกลุ่มใหม่ หลังหมดยุคของพลังประชารัฐ

การเมืองปีนี้จะเข้มข้นและร้อนแรง

 

การที่สมาชิกรัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ “อำนาจของตนเอง” ในการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ว่า ส.ส. และ สว. เหล่านี้…

โพสต์โดย Siripan Nogsuan Sawasdee เมื่อ วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ 2021