“เพื่อไทย” ไร้ความเห็น ‘เทอดพงษ์’ นั่งปธ.สมานฉันท์ ชี้รอดูผลลัพธ์ หวั่นเป็นได้แค่เสือกระดาษ

วันที่ 19 มกราคม 2564 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคพท. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกรรมการสมานฉันท์มีมติเลือกนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นประธานคณะกรรมการ ว่า ทางพรรคพท. คงจะไปให้ความเห็นกรณีตัวบุคคลไม่ได้ เพราะเราไม่ได้เข้าร่วมใรคณะกรรมการชุดนี้ แต่ที่บอกแต่ต้นคือ คณะกรรมการชุดนี้มีขึ้นเพื่อแก้ไขความขัดแย้งในสังคม ณ ขณะนี้ ซึ่งเวลานี้คู่ของความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านในสภา หรือประชาชนซึ่งเปรียบเสมือนฝ่ายค้านนอกสภานั้นไม่ได้เข้าร่วมแต่ต้น จึงสงสัยเหมือนกันว่า การดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้อย่างไร

ประเด็นต่อมาคือ ที่ผ่านมา การตั้งคณะกรรมการไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุดเมื่อมีปัญหา แต่คณะกรรมการเหล่านั้นก็มีแต่ ประชุม ประชุม และประชุม แต่ไม่นำไปสู่การแก้ไขในทางปฏิบัติ ทำให้คณะกรรมการชุดนี้ถูกมองว่าเป็นเสือกระดาษมาตั้งแต่ต้นแล้ว ตนจึงคิดว่า การจะให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้ เราคงต้องดูการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้อีกสักระยะ

เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นฝ่ายค้าน และเป็นคนรุ่นใหม่ มีอะไรอยากแนะนำคณะกรรมการชุดนี้เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติหรือไม่ น.ส.อรุณี กล่าวว่า คณะกรรมการต้องรับฟังเสียง รับฟังข้อเรียกร้องของประชาชน และเยาวชน มีประเด็นใดหรือไม่ หรือมีกฎหมายมาตราใดหรือไม่ ที่จะสามารถหยิบยกมาพูดคุย หรือแก้ไขร่วมกันได้ถ้าเรารู้สึกว่าตรงนี้ก็เป็นข้อหนึ่งของการขัดแย้ง แต่ถ้าไม่มีการหยิบประเด็นเหล่านี้มาพิจารณาหรือปิดประตูบางประเด็นไปเลยก็คิดว่า คำว่าสมานฉันท์ก็คงไม่เกิดขึ้นจริง และคณะกรรมการก็เป็นเพียงคณะกรรมการปาหี่

เมื่อถามว่า มองว่าการปฏิบัติให้เห็น ดีกว่าการตั้งคณะกรรมการใช่หรือไม่ น.ส.อรุณี กล่าวว่า มันเหมือนเราดูปัญหาผ่านโทรทัศน์กับการลงไปหาเมื่อมีสถานการณ์ คณะกรรมการสมานฉันท์ก็เช่นเดียวกัน คุณดูปัญหาผ่านโทรทัศน์ไม่ได้ ท่านต้องขยับเข้าไปรับฟังปัญหาอย่างแท้จริง

เมื่อถามว่า ต้องทำบรรยากาศให้เหมาะกับการสมานฉันท์ด้วยหรือไม่ เพราะล่าสุดมีการใช้กำลังโดยเจ้าหน้าที่รัฐเข้าคุมตัวกลุ่มผู้ชุมนุม น.ส.อรุณี กล่าวว่า ที่เราเรียกร้องกันมาตลอดคือการหยุดคุกคามประชาชน และประชาชนทุกคนต้องได้รับการปกป้องอย่างเท่าเทียมภายใต้กฎหมายของรัฐ จะผิดหรือถูกก็ต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รัฐมักใช้อำนาจของรัฐจับกุม หรือคุกคามประชาชนโดยละเลยพื้นฐานของกฎหมาย หรือหลักปฏิบัติทางด้านกฎหมาย ซึ่งรัฐกำลังทำให้ประชาชนรู้สึกชัดว่า รัฐคือคู่ขัดแย้งของเขา และประชาชนจะมีคำถามต่อกระบวนการของรัฐ ต่อระบบความยุติธรรมของรัฐ รัฐจึงต้องกลับมายึดสิทธิตามกฎหมายจึงจะทำให้บรรยากาศเกิดขึ้นได้ แต่ถ้ารับยังทำแบบนี้ความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นได้ยาก