“ชวน” ชงกาแฟ : จากภาพพีอาร์สู่ ‘มีม’ กลายเป็นดราม่าถึงขั้นฟ้องร้องได้ยังไง?

กระแสโลกดิจิตัลได้ก่อเกิดการเชื่อมโยงผู้คนเป็นสังคมโลกเสมือนที่ไม่เพียงทำให้มีการพัฒนารูปแบบการสื่อสารที่หลากหลายเท่านั้น แม้แต่ความขบขันก็มีการพัฒนาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของยุคนี้ หนึ่งในนั้นคือ การล้อเลียนด้วยภาพหรือข้อความที่ต่อมา ถูกเรียกว่า “มีม” (Meme) ซึ่งหลายตัวก็สร้างความขบขันและกลายเป็นตัวช่วยให้จดจำบุคคลหรือสิ่งของที่ถูกทำเป็นมีมได้มากขึ้นซึ่งมีทั้งเชิงบวกและลบ แต่ก็มีหลายมีมที่ไม่ได้เป็นที่ปรารถนาของหลายคน โดยเฉพาะกับบางพื้นที่ที่ห่วงภาพลักษณ์ตัวบุคคลสูงเป็นพิเศษ ซึ่งมักเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมแบบอนุรักษ์นิยมเข้มข้น

ไทยเองก็มีวัฒนธรรมมีมมาพร้อมกับการมีโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดการนำภาพบุคคลในอิริยาบถต่างๆหรือข้อความจากเหตุการณ์ต่างๆมาแปะ ซึ่งผลลัพธ์ก็ทั้งขบขันในหมู่ผู้ชมและขำไม่ออกสำหรับคนที่ถูกทำเป็นมีม ล่าสุดเกิดกรณีมีมภาพนักการเมืองอาวุโสท่านหนึ่งคือ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งภาพลักษณ์ในฐานะนักการเมืองอาวุโสที่เป็นที่เคารพนับถือเช่นเดียวกับด้านเชิงวิจารณ์ต่อสไตล์การทำงานการเมืองที่ขึ้นชื่อถึงความเชื่องช้า

เมื่อกลางสัปดาห์ไม่นานนี้ นางสาวศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ใช้ทวิตเตอร์โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า “อย่าแปลกใจถ้าเจอท่านชวนยืนชงกาแฟอยู่ในครัวที่สภา…. ท่านมักจะเดินไปชงกาแฟทานเองเสมอ”

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามชวนกดกาแฟเองถูกเผยแพร่ กลับกลายเป็นการตั้งคำถามทำนองว่าเป็นเรื่องพิเศษอย่างไร เพราะทุกคนก็ต้องชงกาแฟดื่มเองเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว หรือมองเป็นการสร้างภาพความสมถะไม่ถือตัวของนักการเมืองอาวุโสของไทยทั้งที่เป็นเรื่องปกติ ทำให้เกิดการโพสต์ท่าทางหรือข้อความที่มีลักษณะทำนองล้อเลียนชวนกดกาแฟ เช่น “อย่าแปลกใจถ้าเจอเขานอนชงกาแฟอยู่ในครัว” หรือ “ปกติตีลังกาชงกาแฟอ่อ?” เป็นต้น

ต่อมามีชาวเน็ตคนหนึ่ง ไดคัทภาพพื้นหลังดังกล่าวออก เหลือแต่ภาพนายชวนพร้อมใส่กรีนสกรีน เพื่อให้ชาวเน็ตคนอื่น ๆ นำไปตัดต่อภาพง่ายขึ้น จนเกิดเป็นมีมล้อเลียนนายชวนมากมาย

แต่ที่เป็นเรื่องคือ การตัดต่อภาพนายชวน ถูกหญิงคนหนึ่งใช้อาวุธปืนจ่อยิงที่ศีรษะ พร้อมข้อความว่า มาสิ!!!

ส่งผลทำให้ นายราเมศ รัตนเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา เผยว่า วันพรุ่งนี้ (15 ม.ค.) เวลา 13.30 ตนจะเดินทางไป กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ศูนย์ราชการ อาคาร B ชั้น 4 ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ตัดต่อภาพ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จนได้รับความเสียหาย รวมถึงบุคคลที่โพสต์ข้อความใส่ร้าย หมิ่นประมาท ในทวิตเตอร์ และ เฟซบุ๊ก

หลังมีผู้ร้องเรียนแจ้งข้อมูลมาเป็นจำนวนมาก มีทั้งการนำภาพไปตัดต่อภาพ ใช้ปืนจ่อศีรษะของนายชวนที่สื่อถึงความรุนแรง และอาจส่งผลต่อความปลอดภัย และเป็นการละเมิดสิทธิประธานรัฐสภา

มติชนออนไลน์ รายงานว่า หลังจากที่นายราเมศทวีตเรื่องนี้ มีผู้มาแสดงความเห็นจำนวนมากแต่ก็แตกเป็น 2 กลุ่ม ส่วนหนึ่งอยากให้ดำเนินคดีอย่างจริงจังเพื่อให้เข็ดหลาบ เพราะปัจจุบันแม้จะเป็นบัญชีที่ไม่เปิดเผยตัวตนก็สามารถตามตัวมาดำเนินคดีได้

ขณะที่บางคนวิจารณ์ว่า เป็นความพยายามที่จะใช้กฎหมายกับประชาชนมากเกินไปหรือไม่ ทำแล้วประชาชนก็จะมีความสุข กินดีอยู่ดี ไม่มีบ่อนไม่มียาเสพติดใช่หรือไม่ ซึ่งนายราเมศได้ตอบโต้กลับว่าเหตุผลที่ใช้สิทธิตามกฎหมาย เนื่องจาก “ภาพแบบนี้ทำกับพ่อคุณคุณจะรู้สึกอย่างไร” และมีอีกหลายภาพที่แย่กว่านี้อย่าพูดแค่ปลายเหตุการณ์

“กระทำต่อคนอื่นก่อน พอเขาใช้สิทธิตามกฎหมายก็เบี่ยงประเด็น คิดว่าจะด่าจะใส่ร้ายคนอื่นอย่างไรก็ได้หรือครับ สุดยอดเลย ส่วนงานช่วยเหลือประชาชนไม่ต้องกังวลครับ เพราะมันคนละเรื่องกัน และเป็นสิ่งที่ทำอยู่แล้ว เปลี่ยนความคิดใหม่นะครับ” นายราเมศ ระบุ

หนุนลากเกรียนคีย์บอร์ด ล้อเลียน “ชวน” เข้าคุก ซัดคนรุ่นใหม่บางส่วนไร้สำนึก

ด้านดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  สนับสนุนการแจ้งความดำเนินคดีกับเกรียนคีย์บอร์ดที่ตัดต่อภาพนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แบบไม่เหมาะสม เข้าข่ายหมิ่นประมาทอย่างชัดแจ้ง โดยมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีสองประเด็นที่สังคมควรได้เรียนรู้ร่วมกัน ประเด็นแรกคือ ปัญหาความไร้กาลเทศะ แยกแยะไม่ได้ระหว่างการเล่นสนุกกับการหมิ่นประมาท คิดแต่สนุกเอามัน โดยขาดความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นกันมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไร้สำนก ปากเรียกตัวเองว่าเป็นคนรุ่นใหม่ เรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ แต่กลับมีพฤติกรรมคุกคามและละเมิดสิทธิผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา คนประเภทนี้ต้องได้รับบทเรียนที่สาสมตามกระบวนการทางกฎหมาย

“ประเด็นที่สองนี่สำคัญมาก ดิฉันเชื่อว่า คนที่ทำการตัดต่อภาพ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับประวัติการทำงานที่เสียสละเพื่อประเทศชาติมาอย่างยาวนานของท่านชวน  ทำให้กล้าทำในสิ่งต่ำ ๆ แบบนี้ ไม่แตกต่างจากปัญหาในภารวมที่เราพบการละเมิดสถาบันหลัก ก็เพราะมีความเข้าใจที่บิดเบี้ยว ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าเป็นปัญหารอยต่อของยุคสมัย  ที่ควรมีพื้นที่เชื่อมข้อมูลด้วยความจริง แทนการสาดกันไปมาระหว่างคนสุดขั้วสองกลุ่ม เพราะไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น สิ่งที่อยากฝากไว้คือ คนมีการศึกษา อาจไม่สำคัญเท่ากับการมีสติปัญญา และสามัญสำนึกที่ดี”ส.ส.ประชาธิปัตย์ กล่าว

‘วิโรจน์’ แนะทำใจเปิดกว้าง-ปรับตัว ชี้ฟ้องเพราะถูกล้อเลียน เป็นความใจแคบ

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า จริงๆ แล้วเป็นเรื่องปกติของโลกปัจจุบัน ที่ชุมชน และการสื่อสารนั้นอยู่บนโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งคนทั่วไป ที่เห็นภาพตัดต่อ ก็ทราบดีอยู่แล้วว่า เป็นการแซว หรือการล้อเลียน ไม่ได้มีใครคิดว่าภาพตัดต่อนั้นเป็นภาพจริง

“เดิมผมไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่อะไร เพราะจากการได้มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณชวน ผมรู้สึกเสมอว่า คุณชวน เป็นคนใจกว้าง และพร้อมเปิดรับ และปรับตัวเข้ากับโลกยุคใหม่ แต่พอทราบว่า คุณราเมศ รัตนเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา และโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ประกาศว่า ได้เดินทางไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ตัดต่อภาพคุณชวน หลีกภัย ผมยอมรับว่าตกใจมาก เพราะไม่คิดว่า โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่เข้าใจโลกสังคมออนไลน์ และไม่พร้อมปรับตัวเองให้เข้ากับการใช้สิทธิ และเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ในโลกยุคใหม่ได้ถึงขนาดนี้ และไม่รู้ว่าไปสื่อสารอย่างไรกับคุณชวน จึงทำให้คุณชวน ที่เป็นคนใจกว้าง ถึงกับยอมมอบอำนาจให้กับคุณราเมศ ไปแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชน ด้วยเรื่องแค่นี้ “ วิโรจน์ กล่าว

วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ต้องยอมรับนะครับว่า ในโลกยุคใหม่ ประชาชนส่วนใหญ่ มักจะมีชุมชน และมีการสื่อสาร และแสดงออกถึงทรรศนะของตน ระหว่างกัน ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นปกติอยู่แล้วที่ บุคคลสาธารณะ (Public Figure) จะต้องถูกแซว ถูกเสียดสี ถูกหยอกล้อ ถูกล้อเลียน ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย อย่างกรณีของ บารัค โอบามา หรือ โดนัลด์ ทรัมป์ หรือ โจ ไบเดน ก็มีภาพตัดต่อในเชิงล้อเลียน (ที่เรียกว่า Parody หรือ Irony) ออกมามากมาย แต่ทั้ง โอบามา ทรัมป์ และไบเดน ไม่เคยมีใครแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนเลย เพราะเข้าใจดีว่านี่คือ โลกยุคใหม่ ที่หากต้องการเข้าถึงประชาชน ก็ต้องใจกว้าง และยอมรับการแสดงทรรศนะของประชาชนที่แตกต่างหลากหลาย ผ่านโลกโซเชียลมีเดีย

“ ยิ่งเป็น “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ที่มีที่มาจากประชาชน ยิ่งควรจะต้องใจกว้างให้มากกว่าบุคคลสาธารณะประเภทอื่น เพราะในเมื่อที่มาของ ส.ส. คือ ประชาชน การไปแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชน ที่มาแสดงทรรศนะในเชิงแค่ล้อเลียน เสียดสี ผมมองว่าเป็นอะไรที่ใจแคบมาก และสะท้อนว่า ส.ส. คนดังกล่าว ไม่ได้ปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคใหม่เลย” โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าว

ระวังกลายเป็น “ตัวตลก” บนโลกจริง

ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ข้อความเพื่ออธิบายภาพมีมที่กลายเป็นเรื่องดราม่าขึ้นมาว่า

น่าสนใจปฏิกิริยาของมือกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาจะฟ้องคนที่ตัดต่อภาพคุณชวน หลีกภัยชงกาแฟ สะท้อนความไม่เท่าทันวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก
.
สำนักเทรนด์Marketing โลกหลายแห่งยกว่าInternet meme เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ทรงอิทธิพล ซึ่งมันจะถูกกระจายออกไปอย่างรวดเร็วมาก ทำให้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างและผลิตซ้ำ
.
ความเป็น Meme นี่ก็ถกเถียงได้อีกยาวว่าขอบเขตแบบไหนเข้าข่าย Cyber Bullying หรือนำไปสู่ความเข้าใจผิดในเชิงกฎหมาย ภาพที่เป็นปัญหาคือภาพที่เป็นภาพตัดต่อคุณชวนชี้นิ้ว และมีผู้หญิงหันปืนเข้าหา
.
ถ้ามองตามความเป็นจริงภาพแบบนี้เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะเป็นภาพจริง เหมือนเราดูโฆษณาอะไรที่มันเว่อร์ๆไปเลยก็จะไม่เข้าข่ายโฆษณาเกินจริง ซึ่งก็น่าสนใจว่าประชาธิปัตย์มองว่ามันเป็นปัญหา
.
หลังจากนั้นภาพตัดต่อมีมส์คุณชวนไฟไหม้ฟางมาก กลายเป็นโจ๊กของวันนี้ไปเลย จากความตั้งใจเดิมทีมงานถ่ายมากะจะประจบว่าคุณชวนสมถะไม่ถือตัว และคิดว่าจะมีแต่คนอวยแบบโลกยุค1.0 แต่พอเจอมีมส์เข้าไปเลยทำตัวไม่ถูก ว่าเรื่องไหนซีเรียสอันไหนปล่อยผ่านได้ไม่ต้องไปยุ่งเดี๋ยวก็หายไปเอง
.
เทียบกับนักการเมืองคนแรกๆที่กลายเป็นmemeอย่างคุณชัชชาติ กรณีถุงแกงซึ่งเจ้าตัวก็เข้าใจวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ และเล่นกับกระแส ‘รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี’
.
สุดท้ายก็ต้องดูว่า ปชป.จะเอาไงต่อไป แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ส่วนนึงก็คงมองว่าเขาไม่เข้าใจวัฒนธรรมร่วมสมัยและคุณชวนและทีมงานก็กลายเป็น ‘ตัวตลก’ในโลกจริง แทนที่จะเป็นแค่memeในโลกออนไลน์เท่านั้น