นักวิชาการชี้ โลกออนไลน์ใช้เพศสภาพโจมตี-ปลุกความเกลียดชังมากสุด แนะปชช.รักษาเสรีภาพเพื่อแลกเปลี่ยน ไม่พึ่งรัฐมาลิดรอน

วันที่ 17 ธันวาคม 2563 ณ ห้องกมลพร โรงแรม เดอะสุโกศล ในงานเสวนา “ความรุนแรงทางเพศ จากโลกออฟไลน์ถึงออนไลน์” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนองานศึกษาในชื่อ ‘เกลียด โกรธ กลัว ความรุนแรงทางเพศสภาพในพื้นที่ออนไลน์’ โดยทำการศึกษาบนโลกออนไลน์เป็นเวลา 6 เดือนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563

อ.ชลิดาภรณ์ กล่าวเผยรายงานศึกษาว่า เราเห็นด้านบวกของการใช้พื้นที่ออนไลน์ทั้งปฏิสัมพันธ์และมีส่วนในการเคลื่อนไหวทางสังคม แต่ในอีกด้าน ดิฉันมีตัวอย่างกรณี Hastag Activism เรามีส่วนนำประเด็นสังคมมาถกเถียงผ่านแฮชแท็ก พวกเรารู้จักกรณี #metoo ถูกใช้เพื่อเปิดโปงการคุกคามทางเพศที่ผู้หญิงจำนวนมากเผชิญ โดยบุคคลสาธารณะมีชื่อเสียงเป็นผู้กระทำ ฟังดูน่าสนใจที่เราไม่เคยรับรู้เรื่องเหล่านี้ จริงๆเรามีแฮชแท็กอย่างกรณี จอร์จ ฟลอยด์ ที่นำไปสู่ #BlackLivesMatter ซึ่งที่จริงไม่ใหม่มาก เพราะมักถูกใช้ในการร้องถึงความไม่เป็นธรรมต่อคนผิวสี แต่หลังการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ก็ใช้อย่างกว้างขวาง แต่ไม่นานก็เกิด WhiteLivesMatter ตามมาซี่งใช้โดยกลุ่มคนที่เหยียดสีผิว ซึ่งองค์กรที่ใช้แฮชแท็กนี้ ไม่ได้สื่อสารเฉพาะโลกออนไลน์ แต่ยังใช้ความรุนแรงทางตรงโดยใช้ออนไลน์ในการสื่อสารนัดหมาย ดึงคนไม่ชอบความหลากหลาย เกลียดชังสีผิวมาดูการสื่อสาร

แต่กลับปรากฏว่า #WhiteLivesMatter ถูกใช้นำเสนอวง BTS แทน ด้วยจำนวนกว่า 2 หมื่นรีทวิต จนไม่สามารถค้นหาคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาเหยียดผิวได้ ทำให้แฮชแท็กนี้ ใช้งานไม่ได้ เป็นความกล้าหาญในการเผชิญหน้าของบรรดาแฟนเพลง BTS อย่างใหญ่หลวง

ยังมีอีกตัวอย่างคือ #ProudBoy ที่ไม่นิยมชายรักชาย ทำไมถึงประเด็น เพราะโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา ได้สื่อสารกับProudboy ให้ใช้ความรุนแรงทางตรง แต่ปรากฏว่า เมื่อเราเข้าสู่แฮชแท็กนี้ใช้ กลายเป็นทวิตของชายรักชาย โพสต์ภาพคู่โดยใช้แฮชแท็กนี้เอาคืน

โลกออนไลน์เป็นการสื่อสารความเกลียดชังและอคตินานาประการ ความเกลียดชังทุกอย่างในสังคม ถูกใช้ในพื้นที่ออนไลน์ ลักษณะสำคัญ 2 ประการคือ

  1. สภาพนิรนามของโซเชียล สร้างตัวตนได้โดยเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับตัวตนจริงก็ได้ ทำอะไรสารพัด สภาพนิรนามเช่นนี้ ทำให้ผู้คนเวลาสื่อสาร ไม่ต้องระวังหรือคิดถึงมารยาททางสังคม เมื่อเข้าสู่พื้นที่ออนไลน์ ทำให้เกิดสภาวะไม่ระวังระวัง เราใส่ไม่ยั้ง ด่าได้เต็มที่ เพราะเชื่อว่าไม่มาถึง ทำให้คนไม่ยับยั้งชั่งใจ แรงมาแรงกลับ
  2. พื้นที่ออนไลน์ขยายการ “เอื้อม” ของเรา สามารถติดตามชีวิตผู้คนในลักษณะตัวๆเป็นทำไม่ถนัด สามารถลอบติดตาม เปลี่ยนวิธีปฏิสัมพันธ์ของเรา ซึ่งเอื้อต่อความรุนแรงหลายประเภท เรามักเชื่อมว่าการนัดหมาย เช่นการนัดหมายคนผิวสี ว่าวันนี้จะทำอะไร มีการนัดหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ออนไลน์ ที่ไม่ใช่การทำร้ายร่างกายหรือทรัพย์สินตรงๆ คือการเหยีดหยาม ประณาม ด่าทอคนอื่น ทำให้คนอื่นเจ็บใจ ทำร้ายตัวตนและจิตวิญญาณผ่านโลกออนไลน์ แต่มักถูกมองข้ามเพราะไม่ทำให้เกิดบาดแผลทางร่างกาย แต่การก่อกวน รังควาน ประจานบนออนไลน์ ทำให้เสียใจ ตายจากสังคม ทำให้หยุดพูด เป็นรูปแบบที่เราเห็นประจำ

“เวลาเราประจานบนพื้นที่ออนไลน์ จะอาศัยความหมายและโครงเรื่องที่มาจากอคติหลายประการ ความหมายที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายคือ ฐานจากเพศสภาพและเพศวิถี สิ่งนี้หล่อเลี้ยงความเกลียดชังบนโลกออนไลน์ได้อย่างไร” อ.ชลิดาภรณ์ กล่าว

เวลาใช้ความเกลียดชังเกี่ยวกับเพศสภาพ ก็มักถูกใช้บนตัวอย่างเช่น รูปลักษณ์ ความสวย เสื้อผ้า หน้าผม กิริยามารยาท ตามเพศสภาพหญิงถูกเอามาใช้โจมตี แม้แต่ผู้ชายก็เช่นกัน เวลานักกาเมืองชายเจอคู่แข่ง ก็มักหยิบความเป็นชายน้อยกว่ามาโจมตี หรือไม่ได้เป็นแม่ที่ดี และพฤติกรรมทางเพศ ของเพศสภาพหญิงถูกเอามาใช้ทำร้ายผู้หญิงบนโลกออนไลน์มาก ถูกประจานว่า ประพฤติไม่เหมาะสม เพศสภาพกลายเป็นอาวุธมาทิ่มแทงผู้หญิงว่าขาดตกบกพร่องอะไร ทำผิดอะไรจึงไม่มีคุณสมบัติและไม่มีสิทธิพูด ซึ่งน่าประหลาดมาก

“การที่เราไปโพสต์ความเห็น ด้วยภาษารุนแรงแง่เพศสภาพให้คนอับอายเพื่อหยุดพูด การจับจ้อง การประจานด้วยการเผยแพร่ภาพนิ่ง สถานการณ์ทางเพศของคนอื่นในพื้นที่ส่วนตัว  ดังนั้น ความรุนแรงจากเพศสภาพ เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางซึ่งต้องมีการศึกษางานวิจัย และพบอะไรคล้ายๆกัน คือการศึกษามุ่งไปกลุ่มเดียวคือวัยรุ่น ไม่เจาะไปวัยอื่น ดังนั้นต้องขยายไปสู่ช่วงวัยอื่นเพื่อเห็นภาพรวมทั้งหมด” อ.ชลิดาภรณ์ กล่าว

อ.ชลิดาภรณ์ กล่าวอีกว่า ผู้หญิงที่พยายามมีบทบาททางการเมืองภาครัฐ ไม่ว่าการเลือกตั้ง นักเคลื่อนไหว หรือนักการเมืองที่ผลักดันวาระทางสังคม รวมถึงคนทำสื่ อเป็นกลุ่มที่ถูกกระทำสูงมากในทุกรูปแบบ ตั้งแต่ตำหนิ ประจาน ถูกขู่ฆ่า ทำร้าย ติดตามเฝ้ามอง เผยแพร่ข้อมูลทางเพศเพื่อประจาน ซึ่งเราเห็นได้ชัดเจน และย้ำความรุนแรงผู้หญิงในภาครัฐที่เผชิญ ไม่ใช่แค่ทางกายภาพอย่างเดียว และต้องทางวาจา ซึ่งมีมากขึ้นจากการสื่อโซเชียลมีเดีย หากเราศึกษาดีๆ ผู้ใช้โซเซียลมีเดียในการประณาม ประจานคือ รัฐ เป็นผู้ใช้ความรุนแรงและส่งเสริมให้คนใช้ความรุนแรง ถ้ารัฐไม่ได้ทำจริงก็ไม่ต้องร้อนตัว

อ.ชลิดาภรณ์ กล่าวว่า เราใช้ร่างกายมาหยิบยกเพื่อประเมิน การโจมตีเพศสภาพหญิง หรือเรื่องการแต่งกายขึ้นเป็นประเด็นหลายครั้ง หลังการเลือกตั้ง การประชุมร่วมรัฐสภา ประเด็นเสื้อผ้าถูกยกมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้เกี่ยวข้องใช้เสื้อผ้านำเสมอประเด็นทางการเมือง ไม่ว่ากฎกติกา หรือประเด็นต่างๆ ถ้าเราดูกรณี กมลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขึ้นสุนทรพจน์ เธอสวมเสื้อผ้าสีขาว ทำไมถึงเลือกสีขาว เพราะสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของการผลักดันสนับสนุนและย้ำให้ตระหนักถึงผู้หญิงในการใช้สิทธิเลือกตั้งว่าได้มาอย่างยากลำบากอย่างไร เพราะฉะนั้นนักการเมืองหญิงใช้เสื้อผ้าในการต่อสู้ทางการเมือง เพราะมองเห็นง่าย คนไทยชอบประเมินนักการเมืองหญิงว่าสวยหรือไม่สวย ทำเป็นนางสาวไทย พอโต้เถียงเรื่องความสวย ก็มีคนชี้ทันทีว่าไร้สาระ หรือเวลาเห็นนักการเมืองฝ่ายที่ไม่ชอบก็ด่าว่า อ้วนหรือแก่

เราพบว่า คนที่ใช้เฟสบุ๊กหรือ ทวิตเตอร์ บนความชอบ ใครอยู่ฝั่งเราก็ชมสวยหมด พออีกฝั่งที่ไม่ชอบก็บอกน่าเกลียดหมด ทำเหมือนแฟนด้อม ก็ปกป้องสุดชีวิต ประเด็นเสื้อผ้ามีคนชี้ว่า เป็นการบูลลี่ เหยียดเพศ แต่พอมีคนเหยียด ก็มีการเหยียดกลับด้วยเรื่องเดียวกัน หรือเรื่องว่าเป็นเมียน้อยหรือสถาปนาความสัมพันธ์ส่วนตัวให้นักการเมืองหญิงคนไหนกับนักการเมืองชายคนใด ก็เป็นลักษณะที่เห็นในคนไทยมากแม้แต่เรื่องเซ็กส์ ก็ถูกใช้อย่างร้ายแรงซึ่งมีหลายกรณี

นอกจากนี้ เพศสภาพนักการเมืองชาย ก็มีเรื่องประเด็นปัญหาครอบครัวเอามาใช้โจมตี ที่น่าสนใจคือ เราเห็นข่าว แต่กลับเชื่อผู้ชาย เพราะเป็นคนมีภาพลักษณ์ดี จากการนั่งอ่านความเห็น จะมีคนแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวมากมายว่าเคยเจอเรื่องหึงหวง ถูกบังคับผู้ชาย ทำให้เห็นความตึงเครียดใน Heterosexual ในสังคมไทย ที่เล่าให้โลกฟัง เอาเรื่องตัวเองเชื่อมกับบุคคลสาธารณะ หรือเอาความเป็นแม่เอามาโจมตีนักการเมือง/นักเคลื่อนไหวหญิง ประเภท ไม่กลัวลูกอับอายหรือ

ประเด็นนี้ การใช้เพศสภาพโจมตี พบว่า นอกจากผู้หนึ่งโจมตีอีกเพศด้วยเรื่องนี้ แม้แต่ผู้กระทำกับอีกฝ่ายที่อยู่เพศเดียวกันก็เอาเรื่องเพศสภาพมาโจมตีใส่ สิ่งที่ต้องคำถามว่า ความเป็นเพศสภาพ ถูกหล่อเลี้ยงจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้อย่างไร

ทั้งนี้ ข้อเสนอจากการระดมความคิดเห็นคือ  1.อย่าเงียบ ต้องชี้ให้เห็นว่าเจอเรื่องอะไร นำเสนอประเด็นโดยไม่แบ่งแยกพรรคพวก เราต้องตั้งคำถาม ปล่อยเฉยไปไม่ได้ 2.สื่อมวลชนผลิตซ้ำความรุนแรง โดยไม่พิจารณา ผลิตซ้ำและเผยแพร่เยอะมาก จึงต้องอย่าผลิตซ้ำและหากลไกแก้ไข และ3.เรามีแนวโน้มพึ่งรัฐออกกฎหมายหรือมาตรการในการจัดการ แปลว่าเรายอมให้รัฐลดทอนเสรีภาพของมนุษย์ จนลืมไปว่ารัฐก็เป็นผู้เล่นใช้ความรุนแรงกับประชาชน แต่เวลานี้ คนทั่วโลกและไทย เวลามีคนละเมิดก็มีคนไม่ยอมและออกมาตอบโต้ แปลว่า คนที่ใช้สื่อออนไลน์มักทัดทานกันและกัน ดังนั้น ทางออกจึงไม่ใช่ลดทอนเสรีภาพ แต่ส่งเสริมเสรีภาพให้คนคิดกันและกันว่าจัดการความรุนแรงยังไง ประชาชนมีความสามารถในการคิด อย่าหยุดคิด