“ครูทิว” ชวนถาม ชุดนักเรียนในเชิงเศรษฐศาสตร์ ลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือ?

วันที่ 2 ธันวาคม 2563 – ประเด็นชุดนักเรียนกลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้งจากแคมเปญชวนใส่ชุดไปรเวทของนักเรียนทั่วประเทศเมื่อวานนี้ จนเรื่องนี้ต่างฝ่ายต่างหาคำอธิบายเพื่อสนับสนุนมุมมองของตัวเอง

ล่าสุด ธนวรรธน์ สุวรรณปาลหรือครูทิว ครูมัธยมและสมาชิกมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย ได้ชวนตั้งโจทย์ชุดนักเรียนในแง่เศรษฐศาสตร์กันเรื่องต้นทุน ความคุ้มค่าและความเหลื่อมล้ำ

จังหวะที่บทเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ ม.1 สัปดาห์นี้คุยกันเรื่อง “ค่าเสียโอกาส”

หลังจากทำความเข้าใจเรื่อง “การตัดสินใจ” และ “ค่าเสียโอกาส” แล้ว

ชวนให้นักเรียนตัดสินใจ เปลี่ยนกฎการแต่งกาย จะ “ไปรเวท” หรือ บังคับ “ชุดนักเรียน”

ชวนหาข้อดีของทั้งสองมุม คำนึงทั้งแง่เศรษฐกิจ และสังคม โดยให้แต่ละคนเขียนในกระดาษและช่วยระดมความเห็นขึ้นกระดาษ โดยจะต้องได้รับรองจากเพื่อนในห้องว่าเห็นตรงกัน

เสร็จชวนกันคำนวณถึงค่าใช้จ่ายหยาบๆ ของชุดนักเรียน และชุดไปรเวท (เฉพาะคนที่คิดว่าต้องซื้อเพิ่มเติม) พบว่าค่าใช้จ่ายเครื่องแบบของนักเรียนสูงถึง 2,000-4,000 บาท และสำหรับนักเรียน ม.ต้น เขาเชื่อว่าในปีการศึกษาถัดไปจำต้องซื้อใหม่จากการเติบโต แต่หากใส่ชุดไปรเวท จำนวนมากบอกว่าไม่ต้องซื้อใหม่ มีเพียงพอต่อการใส่มาโรงเรียนแล้วทุกวัน ส่วนที่ต้องการซื้อเพิ่มนั้นประมาณค่าใช้จ่ายไม่เกิน 1,000 บาท นอกนั้นชวนคุยเพิ่มเติมถึง “ต้นทุนส่วนเพิ่มที่ต้องจ่ายกับการดูแล” (Marginal Cost) ซึ่งถือเป็นต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์เช่นเดียวกัน (พิริยะ ผลพิรุฬห์, 2019)

นักเรียนบางคนเสนอว่าชุดนักเรียนช่วยลดวามเหลื่อมล้ำ ทำให้นักเรียนไม่มีการแบ่งแบก แต่ความเห็นนี้ก็แตกเป็นสองฝั่ง และเราก็คุยกันถึงเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” ในทางเศรษฐศาสตร์ว่าคืออะไร

ผมชวนนักเรียนไล่เรียงว่าแบรนด์ของชุดเครื่องแบบมีอะไรบ้าง เสื้อผ้า รองเท้า เป็นตลาดแบบใด มีการแข่งขันอย่างไร รวมไปถึงกระเป๋าหรือเครื่องหมายที่ผูกขาดกับโรงเรียนมีความคุ้มค่ามาน้อยแค่ไหน

ผมยังฉายภาพใหญ่ให้เห็นข้อมูลอีกว่า ปี 2562 คนรวยมีภาระค่าเครื่องแบบนักเรียน ร้อยละ 6.7 และ ร้อยละ 4.3 เป็นค่าใช้จ่ายส่วนน้อยเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาทั้งหมด แต่ชุดนักเรียนที่เหมือนกันกลับสร้างภาระที่หนักกว่าในครอบครัวยากจน คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 14.6 (สำนักสถิติแห่งชาติ, 2563)

ดังนั้นการบังคับซื้อชุดนักเรียนนั้นเป็นภาระของกลุ่มใดมากกว่า และ ภาพรวมรายจ่ายภาครัฐสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 428,985 ล้านบาท คิดรวมทั้งค่าเครื่องแบบ หนังสือ และอุปกรณ์การเรียน ร้อยละ 4 หรือประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท

ในส่วนรายจ่ายเพื่อการศึกษาที่ภาคครัวเรือนร่วมจ่ายด้วยนั้นตกประมาณ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ในจำนวนนี้เป็นค่าเครื่องแบบร้อยละ 10 เมื่อคิดเฉพาะค่า’เครื่องแบบนักเรียน’ เป็นตัวเลขกลมๆ รวมทั้งส่วนที่รัฐจ่ายและครัวเรือนจ่าย จะตกปีละประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท (ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อ้างถึงใน กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, 2558) โดยชวนคุยว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้นำไปลงทุนกับอะไรได้อีกบ้าง

สุดท้ายแล้วก็เรื่องที่อาจจะคำนวณไม่ได้เป็นความรู้สึกพึงพอใจของผู้บริโภค คือ ความสะดวกสบาย ความมั่นใจของแต่ละคนการฝึกระเบียบวินัยหรือการเรียนรู้และปรับตัวเข้าสังคมจากการใส่ชุดไปรเวท หรือ

เครื่องแบบชุดนักเรียน

แล้วคุณจะเลือกอะไร?

——————————————————-
อ้างอิง
เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเรื่องเครื่องแบบนักเรียน
ค่า‘เครื่องแบบนักเรียน’ 1.2 หมื่นล้าน สะท้อนการศึกษาไทยไร้ประสิทธิภาพ ?
ภาพโครงสร้างการใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กจำแนกตามระดับรายจ่ายเฉลี่ยของครัวเรือน ปี 2562