‘พิธา’ ยืนยัน ‘บำนาญแห่งชาติ’ ทำได้ ไม่กระทบวินัยคลัง

เมื่อวานนี้ (28 พฤศจิกายน 2563) ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมเสวนาในงานมหกรรม ‘รัฐธรรมนูญใหม่สู่รัฐสวัสดิการ’ ในหัวข้อ ความเป็นไปได้ของการจัดสรรงบประมาณในประเทศเพื่อจัดทำรัฐสวัสดิการ

พิธา กล่าวถึงความเป็นไปได้ทางการคลังในประเด็นการสร้างบำนาญแห่งชาติว่า มีความเป็นไปได้ในการจัดสรรให้เกิดขึ้นและจะไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยการคลังของชาติ ในฐานะที่ป็นผู้เเทนราษฎร ความรับผิดชอบปัญหาปากท้องประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งพวกเราได้ให้สัญญากับพี่น้องประชาชนไว้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง สิ่งที่เสนอเข้ามาเป็นร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ คือ การเพิ่มเบี้ยบำนาญ 3,000 บาท ให้ผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องประชานิยมหรือเอื้ออาทร แต่เป็นสวัสดิการที่รัฐควรจัดให้ประชาชาชน ดังนั้น ประเทศไทยต้องมีงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 500,000 ล้านบาท โดยคิดจากการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งภายใน 20 ปี 1 ใน 4 ของประชากรไทยจะเป็นผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ความเป็นไปได้ทางการคลัง ที่กล่าวถึงนั้น จากงานศึกษาของ นิมิตร เทียนอุดม เครือข่ายรัฐสวัสดิการ ซึ่งอยู่ในผลการศึกษาของอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ได้ระบุที่มาของเบี้ยบำนาญแห่งชาติว่าสามารถมีที่มาจาก 8 แห่ง อาทิ ภาษี E- service การขายสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เป็นต้น

“ช่วงชีวิตคนอายุประมาณ 40 ปีเหมือนเป็นแฮมในแซนวิช เพราะต้องดูแลทั้งพ่อแม่สูงอายุและลูกเล็กๆ เวลาพูดถึงถึงรัฐสวัสดิการหลายคนอาจพูดถึงรายจ่าย แต่เราไม่ได้พูดถึงความสร้างสรรค์ หรือการออกแบบ รัฐสวัสดิการ เพื่อครอบคลุมเเละตอบโจทย์กับประชาชนอย่างดีที่สุด การจัดสรรงบประมาณเพื่อรัฐสวัสดิการสำหรับวัยเกษียณมีความเป็นไปได้ทางการคลัง เพราะแม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเฉลี่ยละ 5 แสนล้านบาท ไปอีก 20 ปี แต่ถ้ารัฐบาลสามารถหาแหล่งเงินที่ชัดเจนได้ก็ทำได้ หรือหากจะต้องกู้ยืมบ้างก็ไม่อยู่ในระดับที่ทำให้วินัยการคลังเสีย นอกจากการศึกษาของอนุ กมธ.แล้ว แหล่งรายได้ในอีกเเนวทางหนึ่งคือนโยบายของอดีตพรรคอนาคตใหม่ นั่นคือ การจำกัดงบกระทรวงกลาโหมจาก 1.4 % ต่อ GDP ให้เหลือ 1 % ต่อ GDP เเละเพิ่มอัตราภาษีที่ดิน ตรงนี้จะทำให้นำงบประมาณดังกล่าวมาให้ผู้สูงอายุ เพื่อให้มีการดูเเลเเละยกระดับคุณภาพชีวิตช่วงสุดท้ายที่ดีที่สุดได้ เป็นการปฏิรูปขยายสัดส่วนฐานภาษีเงินได้ต่อรายได้รัฐ เพื่อที่ทำให้บำนาญเเห่งชาติเป็นจริง ซึ่งถ้าประชาชนกับพรรคการเมืองร่วมมือกัน เราจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ เเละความเข้าใจเศรษฐกิจใหม่ เรื่องนี้เราสามารถทำได้จริงๆ แม้ว่าภายใน 20 ปี หนี้สาธารณะต่อ GDP ประมาณการว่าจะอยู่ที่ 57% แต่ประเทศชาติจะเกิดเงินหมุนเวียน ไม่ได้ทำให้วินัยทางการคลังของชาติเสียเเละเกิดการพัฒนาในอนาคต”

พิธา ยังกล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดบำนาญแห่งชาติและความสำคัญของการไปสู่รัฐสวัสดิการด้วยว่า ตนได้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในช่วงสวัสดิการสังคมของรัฐเป็นเรื่องที่มีความท้าทายมากที่สุด นั่นคือ วิกฤติไวรัสโคโรนา 2019 ระบาด งานเเรกที่ปฏิบัติในฐานะหัวหน้าพรรคคือ การไปงานศพของเด็กอายุ 19 ปี ที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองจากการไม่มีเงินซื้อนมลูกกินซึ่งเป็นผลกระทบจากไวรัสโคโรนา 2019

“ผมเป็นหัวหน้าพรรคในช่วงที่ประชาชนกรอกยาฆ่าแมลงบุกกระทรวงการคลังเพื่อฆ่าตัวตายจากความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน แต่กลับเยียวยาอย่างไม่ทั่วถึง ส่งผลต่อการสร้างความเหลื่อมล้ำ ผมได้เห็นพวกเขาในทุกวันเวลาที่ลงพื้นที่ ผมได้พบการอยู่กับพร้อมหน้าพร้อมตาของ 3 รุ่น แต่ไม่ได้มาจากความเต็มใจแต่มาจาการได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา 2019 ผมจึงรู้สึกถึงความสำคัญของ รัฐสวัสดิการ ซึ่งก็คือ มโนทัศน์ในการปกครอง หรือก็คือการบริหารทรัพยากรให้กับประชาชนอย่างเต็มที่เเละทั่วถึง”

พิธา กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติของภาคประชาชน ถูกกฤษฎีกาตีความว่าซ้ำซ้อน แต่หวังว่าร่างดังกล่าวจะไม่ได้ถูกปัดตกไปเหมือนร่าง พ.ร.บ.เพื่อยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร เเละ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเเรงงานของพรรคก้าวไกล ซึ่งหากถ้าเชื่อว่า การเมืองเป็นเรื่องของความเป็นได้ก็ขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชน เพราะการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เสียงของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ไม่ว่าการเเก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการยื่นเเก้ไขร่างพระราชบัญญัติต่างๆ เชื่อว่าความเป็นไปได้จะเกิดขึ้นเมื่อเสียงของประชาชนดังพอ จึงอย่าเพิ่งยอมเเพ้ ทั้งนี้ นโยบายของพรรคก้าวไกลที่สอดคล้องกับรัฐสวัสดิการที่สุด คงเป็นเรื่องการทลายทุนผูกขาดของภาครัฐ อาทิ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า การปฏิรูปกองทัพ รวมไปถึงการคุ้มครองแรงงานเมื่อทำได้ เพราะเมื่อเกิดการขยายฐานภาษีก็จะนำกลับมากระจายให้ประชาชนอย่างทั่วถึง เหล่านี้ถือเป็นหน้าที่ในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง เเละสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลทุกคนจะผลักดันเเละแก้ไขปัญหาปากท้อง รวมไปถึงปัญหาของประเทศให้กับพี่น้องประชาชน

หลังจบการเสวนาในช่วงเช้า พิธา ได้เดินชมนิทรรศการในมหกรรม ‘รัฐธรรมนูญใหม่สู่รัฐสวัสดิการ’ ซึ่งจัดขึ้นโดย เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ส่วนช่วงบ่ายจะเป็นการเสวนาในหัวข้อ ‘รัฐสวัสดิการจะอยู่อย่างไรในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่’ โดยมี ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ รองโฆษกพรรคก้าวไกล จอน อึ้งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw ษัฐรัมย์ ธรรมบุษดี นักวิชาการจากสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เเละอภิวัฒน์ กวางแก้ว เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เป็นผู้ร่วมเสวนา