มาปุ๊บ ลงปั๊บ! ‘อนุทิน’ ไม่ลังเล จ่อลงนามปลดพืชกัญชา พ้นยาเสพติดประเภท 5

มาปุ๊บ ลงปั๊บ! ‘อนุทิน’ ไม่ลังเล จ่อลงนามปลดพืชกัญชา พ้นยาเสพติดประเภท 5

หลังจากที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ตั้งโต๊ะแถลงข่าวครั้งล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาถึง (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. … เนื้อหาสำคัญของความในประกาศ ระบุว่าส่วนของเปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่ง ก้าน ราก และใบที่ไม่มีช่อดอกพืชกัญชาและกัญชง จะไม่ถูกจัดเป็นยาเสพติดในโทษประเภทที่ 5 ทั้งนี้ อย. ได้เร่งดำเนินการจัดทำร่างฉบับดังกล่าวขึ้น เสนอต่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาลงนามความในประกาศ เพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา

ล่าสุด วันที่ 27 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่า ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับเอกสาร จึงยังไม่ได้ลงนาม แต่คาดว่าอยู่ในกระบวนการของหนังสือ

“ถ้ามาถึง มาปุ๊บ ลงปั๊บ” นายอนุทิน กล่าว

ทั้งนี้ ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องดังกล่าว อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 มาตรา 26/5 ผู้อนุญาตจะออกใบอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ได้เมื่อปรากฎว่าผู้ขออนุญาตเป็น

1.หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือสภากาชาดไทย

2.ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชชีพเภสัชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพ การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ทั้งนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน ให้เป็นไปตามหลักกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความห็นชอบของคณะกรรมการ

3.สถาบันอุดมศึกษตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์

4.ผู้ประกอบอาชีพเกษตกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือสหกรณ์การเกษตร ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ซึ่งดำเนินการภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของผู้ขออนุญาต ตาม (1) หรือ (3) ทั้งนี้ ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมดังกล่าว สามารถร่วมผลิตและพัฒนาสูตรตำรับยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพรได้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของผู้ขออนุญาตตาม (1) หรือ (3) ด้วย

5.ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ

6.ผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศที่มีความจำเป็นต้องนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อใช้รักษาโรคเฉพาะตัว

7.ผู้ขออนุญาตอื่นตามที่รัฐมนตรีโดยความห็นชอบของคณะกรรมการกำหนดในกฎกระทรวง ผู้ขออนุญาตตามวรรคหนึ่ง (2) (3) (4) และ (7) ในกรณีที่เป็นบุคคลรรรมดาต้องมีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย และกรรมการของนิติบุคคล หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นอย่างน้อยสองในสามต้องเป็นผู้มีสัชติไทยและมีสำนักงานในประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการรอลงนามในประกาศกระทรวงปลดล็อกส่วนของพืชกัญชาและกัญชงฉบับดังกล่าว ล่าสุด นายอนุทินได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 1273/2563 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ 34 คน มี ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ.เป็นประธานคณะกรรมการ มีกรรมการร่วมคือ นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ. และ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการฯ

ภก.อนันต์ชัย กล่าวว่า นโยบายการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ ปัจจุบันอาจยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างจึงอยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 เป็นร่างฉบับที่ 8 ซึ่งอยู่ในชั้นกฤษฎีกา โดยจะอนุญาตให้ผู้ป่วยสามารถปลูกกัญชาเพื่อใช้สำหรับดูแลสุขภาพตนเอง และให้บุคลากรทางการแพทย์ปลูกเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยของตนได้ อีกทั้งการแก้ไขประกาศกระทรวงฯ สำหรับพืชกัญชง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย รวมไปถึงการส่งเสริมนโยบายเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยากัญชาที่มีคุณภาพใกล้บ้าน สำหรับคณะกรรมการขับเคลื่อนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์นั้นจะทำหน้าที่ในการติดตาม กำกับและประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย รวมถึงวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การดำเนินนโยบายไม่บรรลุผล เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด

“ในปีนี้จะมุ่งเน้นให้คนไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากกัญชาและกัญชง ทั้งด้านสุขภาพ และสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์และการบริการไปสู่การสร้างรายได้ในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งที่ดำเนินการไปก่อนแล้วคือการปลดส่วนของพืชกัญชาและกัญชง ได้แก่ ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น และราก ออกจากบัญชียาเสพติด เพราะมีสัดส่วนของสารมึนเมาน้อยมากควรปลดออก นอกจากนี้ยังมีอีกหลายภารกิจที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การกระจายยาให้ภาคเอกชน โดยแก้กฎระเบียบหลายประเด็นต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมถึงการพัฒนากลไกและระบบควบคุมการใช้กัญชาที่เหมาะสมตามความเสี่ยง” ภก.อนันต์ชัย กล่าว

ภก.อนันต์ชัย กล่าวว่า ส่วนโมเดลกัญชา 6 ต้นต่อครอบครัว ก็ยังไม่ทิ้ง แต่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบบนพื้นฐานวิชาการ อยู่ภายใต้กฎระเบียบที่ครอบคลุม โดยเบื้องต้นสถาบันกัญชาทางการแพทย์จะเร่งดำเนินการการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติเพื่อรวบรวมข้อมูล ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลภายใน 6 เดือน และเมื่อถึงเวลาที่ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฉบับ 8 ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เราจะมีข้อมูลให้สามารถดำเนินการได้ทันที