รฟท.ลุยผุด 3 บริษัทลูก หนุนยกระดับคุณภาพบริการผู้โดยสาร

วันนี้ 23 พฤศจิกายน 2563 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดการประชุมระดมความคิดเห็นโครงการศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมการจัดตั้งบริษัทเดินรถ บริษัทซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐาน (ทางและอาณัติสัญญาณโทรคมนาคม) และบริษัทซ่อมบำรุงรางและล้อเลื่อนการรถไฟแห่งประเทศไทย ในหัวข้อปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินกิจการรถไฟ เพื่อรวบรวมข้อมูลความเห็นเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ รวมทั้งแนวทางที่เกี่ยวข้อง นำมาใช้ประกอบการศึกษาจัดตั้งบริษัทลูกของการรถไฟฯ ในการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของการรถไฟฯ โดยมี นายพินิจ พัวพันพันธ์ คณะกรรมการรถไฟฯ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ พร้อมด้วยผู้บริหาร พนักงานการรถไฟฯ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จํากัด และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วมสัมมนากว่า 100 คน

นายจิรุตม์ เปิดเผยว่า ตามที่มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 เห็นชอบให้มีการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางขึ้น พร้อมกับให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดติดตามการดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูกภายใต้การรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของกรมการขนส่งทางราง และเหมาะสมกับโครงสร้างของธุรกิจการขนส่งทางราง โดยมอบหมายให้การรถไฟฯ ศึกษาแนวทางในการจัดตั้งบริษัทลูก 3 บริษัท คือ บริษัทบริหารทรัพย์สิน บริษัทเดินรถ และบริษัทซ่อมบำรุงรางและล้อเลื่อน ซึ่งในแนวทางการศึกษาการจัดตั้งบริษัทลูกฯ นั้น การรถไฟฯ ได้มีการว่าจ้างบริษัท ไพร์มสตรีท แอดไวอรี่ จำกัด (ประเทศไทย) ให้เป็นผู้ศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมในการจัดตั้งบริษัทลูกฯ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่การรถไฟฯ จะได้รับ และเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การขาดแคลนบุคลากร ภาระหนี้สิน และการเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจในการหารายได้ด้านต่างๆ ซึ่งแนวทางการศึกษาจำเป็นต้องมีการปฏิรูปและพัฒนาองค์กรให้มีความคล่องตัว ทันสมัย มีความสอดคล้อง กับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพื่อมุ่งสู่ความเปลี่ยนแปลงขององค์กรของรัฐอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ดำเนินการจัดประชุม Workshop ระดมความเห็น เพื่อรับฟังมุมมอง ข้อดีและข้อเสียในการจัดตั้งบริษัทลูกของการรถไฟฯ จากพนักงานและผู้เกี่ยวข้องในส่วนภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 7 ครั้ง โดยแต่ละครั้งได้นำข้อมูลมาใช้ประกอบการวิเคราะห์และพิจารณาให้เกิดความรอบคอบ และมีประสิทธิภาพสูงสุด

“ในที่ประชุมผู้บริหารและพนักงานรถไฟ ได้ร่วมกันเสนอความเห็นถึงปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไขในการจัดตั้งบริษัทลูกอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ด้านการปฏิบัติงานและการบริหารจัดการ ปัญหาด้านการจัดซื้อจัดจ้างที่ล่าช้า ปัญหาการหารายได้ ปัญหาการขยายบริการ ปัญหาการขาดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ปัญหาต้นทุนการดำเนินงาน ตลอดจนการขาดพันธมิตรในการดำเนินงาน อีกทั้งยังได้เสนอความเห็นในการจัดทำโมเดลรูปแบบบริษัทลูกของการรถไฟฯ ที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดทุนสะสมของการรถไฟฯ ในอนาคตด้วย”

หลังจากนี้การรถไฟฯ และบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ จะดำเนินการจัดกิจกรรมประชุมระดมความคิดของการศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมการจัดตั้งบริษัทเดินรถ และบริษัทซ่อมบำรุงรางและล้อเลื่อนการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกำหนดประชุม Workshop ในส่วนภูมิภาคอีก 1 ครั้ง คือ ที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 เพื่อต้องการรับฟังความเห็นจากพนักงานรถไฟทุกฝ่าย และทุกพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดตั้งบริษัทลูกฯ และปรับปรุงการให้บริการของการรถไฟฯ ให้เดินหน้าสู่อนาคตที่มั่นคงต่อไป

การรถไฟฯ คาดหวังว่าโครงการจัดตั้งบริษัทเดินรถ บริษัทซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐาน (ทางและอาณัติสัญญาณโทรคมนาคม) และบริษัทซ่อมบำรุงรางและล้อเลื่อนการรถไฟแห่งประเทศไทย จะเป็นการยกระดับคุณภาพการบริการและการดำเนินงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มผู้โดยสาร กลุ่มพันธมิตรทางการค้า และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางระบบราง ในการสร้างรายได้และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติอย่างเต็มประสิทธิภาพ และฟื้นฟูผลการดำเนินงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย สร้างความคล่องตัว แก้ไขปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน และขยายเครือข่ายพันธมิตรทางการค้า ส่งเสริมการรถไฟแห่งประเทศไทยมีความมั่นคงและเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการคมนาคมขนส่งระบบรางของประเทศ สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม เพื่อให้ประเทศไทยเติบโตอย่าง “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”