‘วิษณุ’ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาข้อสรุปกับเครือข่ายพยาบาล ลั่น! ต้องตรึงอัตราข้าราชการ หวั่นกระทบระบบ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 พฤษภาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการนัดหมายตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พูดคุยเพื่อหาทางออกกรณีพยาบาลวิชาชีพขู่ลาออกหากรัฐบาลไม่บรรจุให้เป็นข้าราชการ ว่า ได้มีการนัดหมายเพื่อพูดคุยแล้ว แต่ยังไม่ทราบว่าจะพูดคุยที่ใด โดยวันนี้ 3 ฝ่ายคือ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการ ก.พ.และ ก.พ.ร จะพูดคุยทำความเข้าใจกันเบื้องต้น ก่อนเชิญตัวแทนพยาบาลวิชาชีพเข้าหารือร่วมกัน จากนั้นทั้งหมดจะเข้ามาร่วมหารือกับตน แต่จะได้ข้อสรุปเลยหรือไม่ยังไม่ทราบ และยังไม่ทราบว่าต้องนำเรื่องดังกล่าวนี้เข้ารายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 16 พฤษภาคมหรือไม่ เพราะต้องดูก่อนว่าเกี่ยวข้องกับ ครม.หรือไม่

เมื่อถามว่ามีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า ตอบไม่ถูก แต่ให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้หารือกันก่อน เพราะกรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่กรณีของพยาบาลวิชาชีพนั้นมีจำนวนมาก เลยอาจมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งความจริงปัญหาอาจไม่ใหญ่ เพียงแต่เป็นเรื่องที่กระทบต่อระบบจึงต้องระวังไม่ให้มีผลกระทบ โดยเฉพาะการอ้างเป็นแบบอย่าง

“ผมเห็นใจกระทรวงสาธารณสุข เพราะบุคลากรมีมาก คล้ายกับกระทรวงศึกษาธิการ แต่กระทรวงศึกษาฯนั้นมีระบบของเขาอีกระบบหนึ่ง ส่วนกระทรวงสาธารณสุขจะมีปัญหาทั้งหมอ พยาบาล เภสัช ทันตแพทย์ ซึ่งแต่ละหน่วยพอไปเจอมติ ครม.ตั้งแต่ 10 – 20 ปีก่อน ที่ให้ตรึงอัตรากำลังไว้ ไม่ให้เพิ่ม จึงกระทบ แต่รัฐบาลก็พยายามผ่องถ่ายให้เป็นพนักงานราชการก่อน แต่พอเป็นไปได้ระยะหนึ่ง ก็จะมีการร้องเรียนขอกลับมาเป็นข้าราชการ จึงทำให้กระทบ” นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2547 ประเทศไทยสามารถตรึงอัตรากำลังข้าราชการไว้ได้ที่ 4 แสนคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ หลักคิดของรัฐบาลคือไม่อยากให้เพิ่มไปมากกว่านี้ แต่เมื่อนำหลักคิดนี้ไปใช้กับกระทรวงสาธารณสุข จึงทำให้มีปัญหาเพราะเวลาที่ขอเพิ่มนั้น จะขอจำนวนหลายหมื่นอัตรา รัฐบาลยอมรับว่าบุคลากรเหล่านี้มีความจำเป็น แต่ก็ไม่ได้มีแต่บุคลากรที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น เพราะกระทรวงศึกษาฯก็มีคณะแพทย์ศาสตร์และพยาบาล ซึ่งเมื่อจบมาก็เป็นพนังงานราชการเหมือนกัน ดังนั้นเวลาคิดระบบจะต้องมองทั้งประเทศ หากให้หมอและพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นข้าราชการ แล้วหมอพยาบาล เภสัช ทันตแพทย์ ในสังกัดกระทรวงศึกษาฯจะทำอย่างไร ดังนั้นเรื่องนี้จึงจะยังให้คำตอบไม่ได้ เพราะต้องคิดหลายอย่าง เนื่องจากระบบการแพทย์ในประเทศไทยมี 2 สังกัดคือกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาฯ

เมื่อถามว่าขณะที่กลุ่มพยาบาลวิชาชีพก็กดดัน จำเป็นต้องได้ข้อสรุปวันนี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าว ไม่จำเป็น เสร็จก็เสร็จ ไม่เสร็จก็ไม่เสร็จ