“จาตุรนต์”เตือนสติ ประยุทธ์-รัฐสภา อย่าปล่อยโอกาสคลี่คลายวิกฤตประเทศหลุดลอยไป

“จาตุรนต์” เตือนสติ ประยุทธ์-รัฐสภา อย่าปล่อยโอกาสคลี่คลายวิกฤตประเทศหลุดลอยไป เดินหน้ายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ คือทางแก้ความขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 24 กันยายน นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็น กรณี รัฐสภามีการอภิปรายร่างญัตติแก้ไขรธน. ทั้ง 6 ญัตติ โดย ระบุว่า

ขณะนี้รัฐสภากำลังพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งที่แก้มาตรา 256 เพื่อให้มี สสร.ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่และอีก 4 ญัตติที่พรรคเพื่อไทยเสนอ

เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นตรงกันในเรื่องให้มี สสร.ขึ้น การแก้มาตรา 256 ก็มีโอกาสผ่านวาระแรกไปได้ เว้นแต่มี สว.ร่วมสนับสนุนไม่ถึง 84 คน

แต่ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับมาตรา 256 อีกข้อหนึ่งก็คือการห้ามแก้หมวด 1 และหมวด 2 ทั้งๆ ที่มีมาตรา 255 กำกับไว้อยู่แล้วว่าการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนระบบหรือรูปแบบการปกครองจะกระทำมิได้

หมวด 1 หมวด 2 นี้ ความจริงก็มีการแก้กันมาหลายครั้งหลายหน แม้แต่การแก้รัฐธรรมนูญ ปี 60 ครั้งหลังสุดก็มีการแก้ การไปเขียนห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 ไว้กลับจะเป็นการปิดโอกาสให้สังคมไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นที่แตกต่างตามครรลองประชาธิปไตย ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งเผชิญหน้าไปได้

เรื่องจะห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 หรือไม่นี้ คงต้องติดตามกันในขั้นตอนต่อไปจนกระทั่งกลับมาลงมติกันในวาระที่ 3

ส่วนการแก้อีก 4 ญัตตินั้น ยังไม่ทราบว่าจะผ่านวาระแรกได้บ้างหรือไม่

ผมคิดว่าที่น่าสนใจติดตามเป็นพิเศษคือการเสนอแก้มาตรา 272 โดยเฉพาะในส่วนของการตัดอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี

หากมีการยกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่และ สสร.ไปรับฟังความเห็นประชาชนในเรื่องนี้ ก็คงจะไม่มีทางที่จะปล่อยให้ สว.มีอำนาจเช่นนี้อีกต่อไป แต่ปัญหาก็คือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้จะใช้เวลาอีกนาน อาจไม่น้อยกว่า 15 เดือน

แต่เวลานี้รัฐบาลสูญเสียความเชื่อถือจากประชาชนไปหมดแล้ว ไม่มีใครรู้ว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ได้อีกนานเท่าใด เมื่อถึงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานท่านนายกฯ อาจแก้ปัญหาด้วยการยุบสภาก็ได้

หากมีการเลือกตั้งขึ้นภายใต้กติกาเดิมจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ประเทศก็จะยังวิกฤตต่อไป

ดังนั้นจึงจำเป็นที่อย่างน้อยจะต้องตัดอำนาจ สว.ในการเลือกนายกฯ ออกไปเสียก่อน ให้สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี

ไม่มีใครรู้ว่าวิกฤตการเมืองครั้งนี้จะพัฒนาไปถึงขั้นไหนและประเทศจะจมปลักอยู่กับความเสียหายยับเยินในทุกด้านไปอีกนานเท่าใด แต่ที่แน่ๆ หากรัฐสภาต้องการเปิดช่องให้วิกฤตผ่อนคลายลงได้บ้าง รัฐสภาต้องไม่ปล่อยให้โอกาสนี้หลุดลอยไป

ทั้งหมดนี้ขึ้นกับพรรคร่วมรัฐบาลและ สว. ซึ่งคนที่จะพูดกับทั้งสองส่วนนี้ได้ก็คือ พลเอกประยุทธ์ นั่นเอง

ขึ้นกับว่า พลเอกประยุทธ์ จะเห็นแก่ชาติบ้านเมืองหรือจะคำนึงถึงแต่อำนาจและผลประโยชน์ของตนเอง