ก้าวไกล ลุยตัดงบ ‘ดีอีเอส’ 224 ล้าน จวก ‘พุทธิพงษ์’ แชร์เฟกนิวส์เอง

ก้าวไกล ลุยตัดงบกระทรวงดีอีเอส หลังแชร์เฟกนิวส์เอง อัดทำตัวเป็นโทรโข่งรัฐบาล ไร้มาตรฐาน ฟากประธานวิปรัฐบาลหักคอฝ่ายค้านอภิปรายให้จบก่อนเที่ยงคืน 18 ก.ย.

เมื่อเวลา 23.30 น. วานนี้ (17 กันยายน 2563) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 16 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและหน่วยงานในกำกับ วงเงิน 5 พันล้านบาท กมธ.เสียงข้างมากปรับลดลง 224 ล้านบาท เหลือ 4.7 พันล้านบาท

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนเสนอขอตัดงบ 95 ล้านบาทของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพราะหน่วยงานที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ต้องมีหลักการตาม IFCN เช่น เป็นกลาง ไม่เลือกข้าง มีความเป็นอิสระ ที่มาข้อมูลต้องโปร่งใส เป็นต้น ซึ่งศูนย์ก็มีการระบุหลักเกณฑ์ไว้บนเว็บไซต์ตัวเอง แต่ทางศูนย์ก็ไม่สามารถรักษามาตรฐานและหลักการเหล่านี้ได้ อาทิ มีการให้ความรู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับศูนย์เฟกนิวส์ เช่น การแจ้งข่าวสารนโยบายของรัฐ มีการระบุว่าห้ามใช้อินเตอร์เน็ตว่าร้ายรัฐบาล สรุปว่าจะเป็นกรมประชาสัมพันธ์หรือหน่วยข่าวกรองกันแน่ ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง ลดความเชื่อถือของหน่วยตัวเอง

นอกจากนี้ยังดำเนินการทางกฎหมายกับข่าวลือโดยไม่จำเป็น ถือเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ บางครั้งเร่งรีบเสนอข่าวผิดเอง เช่น กาฬโรคม้าที่ไปตีตราข่าวปลอมแต่ในที่สุดเป็นข่าวจริง ซึ่งทางศูนย์ก็ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาด หรือข่าว อสม.ที่ได้ค่าตอบแทนไม่ครบ สุดท้ายก็มีการให้ค่าตอบแทนจนครบ แต่ก็ไปตีตราข่าวนี้ว่าเป็นข่าวบิดเบือน และสุดท้ายมีการออกหนังสือชี้แจงโดยไม่มีคำขอโทษใดๆ แม้แต่คำเดียว และสุดท้ายก็มีการลบโพสต์ของตัวเองไปอย่างเนียนๆ โดยไม่รับผิดชอบ เหมือนต้องการปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง เมื่อย้อนมาดูหลักการถือว่าทางศูนย์สอบตกเกือบทุกข้อ

นายปกรณ์วุฒิ อภิปรายต่อว่า ศูนย์ดังกล่าวเป็นหน่วยงานราชการ รับเงินงบประมาณแผ่นดิน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีและฝ่ายบริหารซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง มีข้างทางการเมืองที่ชัดเจน ปรากฏหลายครั้งว่าทางศูนย์ทำตัวเป็นโฆษกรัฐบาล ทั้งนี้ ปัญหาทั้งหมดแก้ง่ายๆ ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกของ IFCN เพื่อช่วยรับรองมาตรฐานการนำเสนอข้อมูล และเป็นเงื่อนไขขั้นต่ำของเฟซบุ๊กในการเป็นแฟนเพจของหน่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งรัฐมนตรีเคยประกาศไว้ตั้งแต่ก่อนตั้งศูนย์เมื่อเดือน พ.ย.62 แต่ปัจจุบันก็ไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ เหมือนต้องการให้มาตรฐานกว้างแค่อำเภอใจ ไม่ได้กว้างไกลเท่ามาตรฐานสากล

“ศูนย์จึงสอบตกทั้งประสิทธิภาพ ความเป็นกลางและความโปร่งใส ใช้งบประมาณไปเพื่อประชาสัมพันธ์และปกป้องรัฐบาล สถาปนาตัวเองเป็นกระทรวงความจริง ตั้งตนเป็นตำรวจไซเบอร์ เอากฎหมายอาญาไปปราบปรามประชาชน ทั้งๆ ที่ตนเองยังไม่มีคุณภาพ มาตรฐาน และไม่มีความน่าเชื่อถือ” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

ด้าน นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนสงวนคำแปรญัตติปรับลดงบประมาณของกระทรวงดีอีเอสลง 5% โดยงบประมาณ 2 ตัวในส่วนของสำนักปลัดฯ ตัวแรก งบประมาณของศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวกรอง 95 ล้านบาท เพื่อตรวจสอบข้อมูลข่าวสารหรือเฟกนิวส์ ซึ่งที่ผ่านมานายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส เจอข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่แชร์เฟกนิวส์ ทำไมศูนย์ต่อต้านข่าวกรองถึงไม่ปกป้องรัฐมนตรีของท่านเลย ถ้าตนเป็นรัฐมนตรีคงน้อยใจ

นพ.วาโย กล่าวต่อว่า ส่วนงบประชาชนตัวที่สอง คือศูนย์เฝ้าระวังเว็บไซค์ผิดกฎหมาย 10 ล้านบาท รวม 105 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าจ้างบุคลากร จ้างมานั่งเฝ้าเช็กหรือบล็อกบนเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย แต่แค่ค้นหาในกูเกิ้ลดูก็พบเว็บพนันบ่อน เว็บคาสิโนออนไลน์เพียบ ที่สำคัญเว็บไซต์ pulony.blogspot.com ที่ให้ข้อมูลโดยใช้เหตุการณ์อุ้มหายของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ มาบิดเบือนกล่าวหาว่ามีคนกลุ่มใดได้ประโยชน์บ้าง ซึ่งที่ทั้งหมดเข้าได้โดยไม่มีการบล็อกแต่อย่างใด โดยใช้งบปีละ 10 ล้านมาเกือบทุกปีแล้ว ประสิทธิภาพการทำงานแบบนี้ ตนจึงขอตัดงบ 2 ตัวนี้ออกทั้งหมด

ทั้งนี้ ในระหว่างการอภิปรายงบประมาณของกระทรวงดีอีเอส นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ได้ลุกขึ้นหารือ โดยเปิดเผยถึงผลการหารือกับวิปฝ่ายค้าน ถึงเวลาของการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ โดยวิป 2 ฝ่ายได้หารือจนได้ข้อสรุปร่วมกันว่าฝ่ายค้านจะใช้เวลาอีก 11 ชั่วโมงในการอภิปรายมาตราที่เหลือ โดยจะต้องเสร็จภายในเที่ยงคืนของวันที่ 18 ก.ย.นี้ จึงขอให้ใช้เวลาให้อยู่ในกรอบ เพราะตามกำหนดเดิมวางการอภิปรายไว้ 3 วันระหว่างวันที่ 16-18 ก.ย. เพราะเมื่อผ่านเราจำเป็นต้องทิ้งไว้ 3 วันเพื่อรอให้ทางวุฒิสภาพิจารณาต่อในวันที่ 22 ก.ย.นี้ เพื่อให้ทันกับการประกาศใช้ในช่วงต้นเดือนต.ค.

อย่างไรก็ตาม เมื่อการพิจารณาในมาตรา 16 เสร็จสิ้น นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้สั่งพักการประชุมในเวลา 00.30 น. วันที่ 18 ก.ย. และนัดประชุมใหม่ในเวลา 09.30 น. ซึ่งเป็นวันสุดท้าย โดยยังเหลือการพิจารณาอีก 24 มาตรา