สภาฯเริ่มถกงบปี64วาระ2-3 ฝ่ายค้านขอเวลาอภิปรายเพิ่ม ชี้ 7 นาทีไม่พอ

สภาฯเริ่มถกงบปี64วาระ2-3 ฝ่ายค้านขอเวลาอภิปรายเพิ่ม ชี้ 7 นาทีไม่พอ

เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงินไม่เกิน 3.3 ล้านล้านบาท ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว โดยปรับลดงบประมาณเหลืองบประมาณ 64 ทั้งสิ้น 3.28 ล้านล้านบาท ในวาระ 2 และวาระ 3 แต่ปรากฎว่าไม่สามารถเปิดประชุมเพื่อพิจารณางบฯ ได้เนื่องจากมีสมาชิกลงชื่อเข้าร่วมประชุม 195 คน ไม่ครบองค์ประชุม ทำให้นายชวน หลีกภัย ประกาศให้สมาชิกร่วมลงชื่อเพื่อเข้าประชุมเนื่องจากยังขาดองค์ประชุมอีกประมาณ 50 คน และได้เปิดให้สมาชิกหารือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ก่อน

จากนั้นเวลา 09.45 น.การประชุมได้เริ่มอย่างเป็นทางการ โดยนายชวนให้พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ที่ถูกเลื่อนลำดับขึ้นมาแทนนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่ลาออก ปฏิญาณ ก่อนเข้าทำหน้าที่

จากนั้นนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) ชี้แจงว่า การพิจารณาในวันที่ 16 กันยายร จะพิจารณาเกินเวลา 24.00 น. และในวันที่ 17 กันยายน จะเริ่มพิจารณาเวลา 09.30 น. ส่วนการพิจารณาวันที่ 18 กันยายน ต้องเสร็จก่อนเวลา 24.00 น. โดยเวลา 21.00 น.​จะสรุปเพื่อลงมติวาระ 3 และข้อสังเกตของกมธ.ฯ​ ส่วนเวลาอภิปรายนั้นขอให้ประธานที่ประชุมพิจารณาใช้ข้อบังคับการประชุมอย่างเคร่งครัด และให้สิทธิผู้อภิปรายเฉพาะกมธ. และส.ส.ที่สงวนคำแปรญัตติ

ทั้งนี้ นายวิรัช แสดงความเป็นห่วงเรื่องระบบไฟฟ้าขัดข้อง เพราะในรัฐสภามีไฟฟ้าขัดข้องบ่อยในช่วงนี้ จึงขอให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ เพราะเมื่อมีฝนตกและน้ำไหลเข้ามาทำให้ไฟฟ้าขัดข้อง ไฟดับ ส่งผลให้การประชุมต่างๆต้องงด หากวันที่ 16-18ก.ย. มีปัญหาไฟฟ้าขัดข้องอาจกระทบต่อการประชุมสภาฯ

นายชวน ชี้แจง ว่า การพิจารณาของสภาฯ จะใช้เวลา 3 วัน ส่วนกรณีที่มีการวิจารณ์ว่าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ64 ล่าช้านั้นข้อเท็จจริงไม่ช้า โดยสำนักงบประมาณ ส่งร่าง พ.ร.บ.ฯ มาให้สภาฯ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน และขอให้สภาฯ พิจารณาในสัปดาห์ถัดไป แต่เมื่อได้รับเอกสารแล้วพบว่าเอกสารงบประมาณมีจำนวนมาก หากให้เวลาเพียง 7 วันอาจดูไม่ทั่วถึง จึงขอขยายเวลาให้ ส.ส. ดูเอกสาร รวม 14 วัน และนำมาพิจารณาในวันที่ 2-3 กรกฎาคม ซึ่งเป็นเหตุผลของสภาฯ ไม่ใช่ความผิดของสำนักงบประมาณ ขณะเดียวกันตามกฎหมายกำหนดให้สภาฯ พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน ซึ่งจะครบกำหนดวันที่​28 กันยายน ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาล่าช้า

จากนั้นนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกมธ.วิสามัญฯรายงาน สาระสำคัญ ว่าตั้งแต่การรับหลักการในวาระที่ 1 ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และ กมธ.วิสามัญฯ เริ่มพิจารณาในวันที่ 8 กรกฎาคม – 8 กันยายน 2563 โดยพิจารณางบประมาณของ 721 หน่วยงาน และพิจารณาตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ ความมั่นคงของชาติ แนวนโยบายของรัฐบาล เงื่อนไขเศรษฐกิจและผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาลกำหนดตัวชี้วัดโดยต้นทุน การประเมินความคุ้มค่า และให้ความสำคัญกับการทำงบประมาณบูรณาการอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และเพิ่มงบประมาณในการลงทุน เช่น การบริหารจัดการน้ำ การศึกษา การวิจัยและนวัตกรรม และสาธารณสุข โดยปรับลดงบประมาณ 31,965,549,000 บาท จากรายการที่ไม่สอดคล้องกับสภาพ รายการที่สามารถปรับลดเป้าหมายหรือปรับเปลี่ยนในประหยัด เช่น การอบรมสัมมนา การจ้างเหมาบริการ การจ้างที่ปรึกษา การประชาสัมพันธ์ การเดินทางไปราชการต่างประเทศ รายการที่มีการดำเนินการล่าช้าการแผนที่กำหนดและคาดว่าไม่สามารถดำเนินการในปี 2564 รายการที่ใช้งบประมาณจากแหล่งอื่นนอกเหนืองบประมาณรายจ่ายบประจำปีได้ เพื่อนำไปจัดสรรให้กับส่วนราชการตามที่ ครม. เสนอตามความเหมาะสมและจำเป็น 17,419 ล้านบาท จัดสรรให้หน่วยงานรัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอัยการ จำนวน 509 ล้านบาท เป็นต้น ทำให้เหลืองบประมาณปี 2564 รวม 3.28 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มอภิปรายฝ่ายค้านลุกขึ้นสอบถามถึงเวลาในการอภิปรายที่ตกลงกันคนละ 7 นาที โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตามข้อบังคับไม่มีการกำหนดเวลาอภิปราย เกณฑ์ที่ให้เวลา 7 นาที เป็นข้อตกลงทั่วไป แต่ตนมีหลายประเด็นและหลายมาตราที่ต้องอภิปราย จึงคิดว่า 7นาทีไม่เพียง ถ้าอย่างนั้นตนก็จะทวงตามสิทธิ์ อภิปราย10 นาที หรืออภิปรายโดยไม่จัดเวลา

แต่นายชวน ยืนยันอย่างไรก็ต้องยึด 7นาทีเป็นหลัก ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเหมือนเดิมตามที่ตกลงกันไว้ เพื่อให้ทุกคนได้พูดเหมือนกัน ถ้าให้พูดตามอำเภอใจคนอื่นก็ไม่ได้พูด ทำให้นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ตอบโต้ว่า การให้เวลาอภิปราย 7นาที ถือว่าอนุโลมให้มามากแล้ว ถ้าเอาความจริงมาพูด ตนต้องพูด 30นาที เพราะเป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ อย่าคิดว่าเอาพวกมากลากไปไม่ให้ตนพูดไม่ได้ เพราะอนุโลมมากแล้ว แต่นายชวนไม่สนใจ ตัดบทเข้าสู่การอภิปรายต่อทันที