ปูดเอกสาร ให้อาชญาบัตร‘เหมืองแร่อัครา’อีก 2 แสนไร่ ก.อุตฯโต้แลกข้อพิพาท

เปิดเอกสารว่อน อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ อนุญาตให้อาชญาบัตรเหมืองแร่อัคราเพิ่มอีก 2 แสนไร่ ก.อุตฯยันไม่เกี่ยวต่อรองข้อพิพาท เป็นคนละจุดกัน

จากกรณีประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อนุญาตให้บริษัทอัครารีซอร์สเซส จำกัด มหาชน ที่ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ 24 คำขอ ตั้งแต่ปี 2546-2548 มีเนื้อที่ 208,894 ไร่ ในพื้นที่อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ โดยประกาศเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2563 จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์เพื่อแลกกับการถูกฟ้องร้องกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตาม ม.44 ปิดเหมืองทองอัครา ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายกว่า 3 หมื่นล้านบาทนั้น

วันที่ 12 ก.ย. นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) เปิดเผยถึงประกาศเรื่องขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) ว่าเป็นคำขอค้างตั้งแต่ปี 2546 ที่อัคราเคยยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำและเงินให้กรมพิจารณาแล้ว แต่กรมไม่ได้อนุญาตให้สำรวจในครั้งนั้น จำนวน 24 คำขอ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวังโป่ง วังหิน ซับเปิบ ท้ายดง และวังศาล อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ขนาดพื้นที่ 208,894 ไร่ กระทั่งผ่านมาแล้ว 17 ปี จนถึงวันนี้ทางอัคราได้ยื่นคำขอใหม่อีกครั้งหลังจากภาครัฐมีนโยบายการบริหารจัดการแร่ทองคำปี 2560 ภายใต้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แร่ พ.ศ.2560

ทั้งนี้ เป็นคนละแปลงกับที่กรมมีข้อพิพาทกับอัครา จึงไม่ได้เป็นการอนุญาตให้อัครากลับมาเปิดดำเนินกิจการในแปลงที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการตามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตแต่อย่างใด

“เรื่องนี้เป็นคำขอค้างตั้งแต่ปี 2546 ที่กรมพิจารณาแล้วแต่ไม่ได้อนุญาตให้สำรวจ และอัคราก็ไม่ได้เดินเรื่องเพื่อขอให้ทบทวนอีกเลยนาน 17 ปี จนถึงวันนี้ที่อัครายื่นขอเข้ามาใหม่ เพราะเข้าใจว่าอัคราเห็นว่าภาครัฐมีนโยบายบริหารจัดการแร่ปี 2560 แล้ว จึงทำเรื่องยื่นขอให้พิจารณาอีกครั้ง โดยล่าสุดอยู่ระหว่างส่งเรื่องเข้ามาให้กรมพิจารณา กรมยังไม่ได้รับเรื่อง ยืนยันเรื่องนี้ยังไม่ได้มีการอนุญาตแต่อย่างใด ซึ่งหากมีเรื่องนี้เข้ามาก็จะพิจารณาตามกระบวนการและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย เช่น การมีแผนดำเนินงานสำรวจแร่ถูกต้องหรือไม่ รายละเอียดต่างๆ ครบถ้วนหรือไม่โดยเฉพาะการดูแลและฟื้นฟูพื้นที่หลังการสำรวจที่ถูกต้องครบถ้วน ภายในระยะเวลา 5 ปีที่กฎหมายกำหนด”

ทั้งนี้ เว็บไซต์ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่จดหมายข่าวล่าสุดชื่อเรื่อง “อัพเดตเรื่องการสกัดทองที่เหมืองทองชาตรี” ระบุว่า “ยินดีอย่างยิ่งที่จะประกาศว่าเหมืองทองอัคราได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยให้ขายทองคำมูลค่าสูงและตะกอนเงินที่อยู่ในเหมืองดังกล่าวแก่โรงงานสกัดเพื่อดำเนินขั้นตอนผลิตทองและเงินแล้ว

จดหมายระบุด้วยว่า ตะกอนดังกล่าวหมายถึงวัตถุที่ได้จากการทำความสะอาดออกจากแทงก์และโรงงานผลิต นับจากเหมืองทองอัคราปิดตัวไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2559 และเป็นที่รับทราบว่าเป็นทรัพย์สินของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด ตะกอนที่ได้แบ่งเป็น ทองคำ 4,750 ออนซ์ และเงิน 34,800 ออนซ์ มีมูลค่า 14 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือเกือบ 320 ล้านบาท คำนวณจากราคาทอง 2,678 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 61,000 บาทต่อออนซ์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 โดยยังไม่รวมค่าลิขสิทธิ์ ค่าขนส่ง และค่าสกัดทอง

“บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด บรรลุข้อตกลงกับโรงงานสกัดของไทยที่จะเดินหน้าสกัดตามกฎหมายใหม่ที่ประสงค์ให้ทองคำที่ได้จากเหมืองในประเทศไทย สกัดภายในประเทศไทย ส่วนการขนส่งตะกอนไปยังโรงสกัดเริ่มต้นดำเนินงานแล้ว แม้การปฏิบัติงานดังกล่าวได้ล่วงเลยกำหนดเวลามานานแล้ว และคิงส์เกตมองว่ายังดำเนินมาเพียงก้าวเล็ก ๆ

แต่นับเป็นความคืบหน้าทางบวก และดูเหมือนเป็นความเชื่อที่ดีที่บ่งบอกว่าเป็นความปรารถนาใหม่ของรัฐบาลไทยที่ยินดีจะเข้าสู่การจัดการต่อรองระหว่างสองฝ่าย ตามกระบวนการที่บริษัทคิงส์เกตฯสนับสนุนมาเป็นเวลามากพอแล้ว” จดหมายระบุ พร้อมลงนามโดย รอสส์ สมีธ-เคิร์ก ประธานบริหาร บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด วันที่ 10 ก.ย.2563