“สนธิรัตน์” เข็นโซลาร์ประชาชน ขอ 60 วัน ปลดล็อกเงื่อนไขใหม่

“สนธิรัตน์” ตั้งคณะทำงานศึกษาปลดล็อกเงื่อนไขจูงใจโซลาร์ประชาชน พร้อมเปิดโควตา 50 เมกะวัตต์ ขีดเส้นจบ 60 วัน หวังช่วยลดภาระค่าครองชีพช่วงวิกฤตโควิด

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังประชุมแนวทางการบริหารจัดการโครงการโซลาร์ภาคประชาชนรูปแบบใหม่ว่า ได้สั่งการให้นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน ตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินโครงการนำร่องผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ภาคประชาชน(โซลาร์ภาคประชาชน) โดยจะต้องศึกษารูปแบบการดำเนินงานใหม่ทั้งหมด เพื่อแก้ปัญหาที่ผ่านมาโครงการนี้ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร มีผู้สมัครเข้ามาร่วมเพียง 1.8 เมกะวัตต์ โดยเบื้องต้นจะปรับลดสัดส่วนโควตาโซลาร์ภาคประชาชนตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพีฉบับใหม่) เหลือปีละ 50 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 5 ปี (2563-2567) จากเดิมปีละ 100 เมกะวัตต์เป็นเวลา 10 ปี

“ที่ประชุมได้หารือผู้เกี่ยวข้องถึงอุปสรรคและเงื่อนไขที่จะช่วยให้ได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากมองว่าหลักการดี เป็นพลังงานสะอาด เป็นเครื่องมือสร้างรายได้ช่วงวิกฤตโควิด-19 แต่อุปสรรคปัญหาด้านเงินทุน ปัญหาด้านภาษี เนื่องจากหากโครงการดังกล่าวสามารถนำไฟฟ้าส่วนที่ผลิตเกินความต้องการใช้มาขายได้ จำเป็นที่จะต้องเสียภาษี ปัญหาแผนงานด้านวิศวกรและเรื่องสายส่ง รวมถึงงบประมาณแหล่งเงินทุน คาดว่าจะสรุปแนวทางแก้ไขได้ใน 2 เดือน”

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผู้แทนภาคประชาชน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะนำร่องใช้รูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปอย่างเป็นธรรม โดยระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติจากไฟฟ้าที่ผลิตใช้เอง หรือ net metering และปรับเพิ่มอัตรารับซื้อไฟใหม่จากเดิมหน่วยละ 1.68 บาทซึ่งไม่จูงใจประชาชน สำหรับอัตราค่าไฟที่จะปรับสูงขึ้นนี้จะไม่กระทบต่อราคาค่าไฟ เพราะสัดส่วนการผลิตเพียงปีละ 50 เมกะวัตต์เท่านั้น

นางสาวรสนา โตสิตระกูล ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม กล่าวว่า โซลาร์ภาคประชาชน เป็นการใช้พลังงานสะอาด เป็นประโยชน์มากในการช่วยลดค่าใช้จ่าย เสริมรายได้ประชาชนที่ติดตั้ง และยังก่อให้เกิดการจ้างงานแก่นักศึกษา ช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ส่วนข้อท้วงติงเรื่องผลกระทบค่าไฟทั่วไปนั้นยืนยันว่าไม่กระทบเพราะสัดส่วนน้อยมาก