‘เพื่อไทย’ แนะ รื้อร่าง พ.ร.บ.งบฯ 64 ทำใหม่ รองรับอุตสาหกรรมหลังวิกฤติโควิด

‘เพื่อไทย’ แนะ รื้อร่าง พ.ร.บ.งบฯ 64 ทำใหม่ รองรับอุตสาหกรรมหลังวิกฤติโควิด

น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า ตนไม่อาจรับหลักการของร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ได้ เพราะรัฐบาลตั้งต้นการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจที่คลาดเคลื่อน ทำให้การจัดสรรงบฯผิดพลาด ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศในปัจจุบัน และอนาคต และที่สำคัญรัฐบาลกำลังทำให้ประเทศไทยสุ่มเสี่ยงที่จะตกอยู่ในสภาวะล้มละลายทางการคลัง การจัดทำร่างพ.ร.บ.งบฯฉบับนี้ จึงเป็นการจัดทำที่ประมาทต่อวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้เกินไป และพาประเทศไปสู่ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจทุกมิติ

ทั้งนี้ ตนคิดว่า รัฐบาลควรจัดงบฯ 64 ต่ำกว่า 3.3 ล้านล้านบาท และไม่ควรเกิน 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนงนบฯปี 63 แล้วสามารถทำให้ต่ำกว่านี้ หากรัฐบาลมีความใส่ใจในวินัยการคลัง ตนเห็นว่า เราสามารถตัดงบฯจากงบกลางได้ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการบรรเทาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเป็นงบฯที่ซ้ำซ้อนกับงบฯที่มาจากการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลยังคงใช้จ่ายเงินแบบเดิม โดยที่ไม่ตัดรายจ่ายใดๆออกไป เช่น งบรายจ่ายลงทุนบางรายการที่ไม่เกิดประโยชน์ และยังสร้างภาระให้รายจ่ายในอนาคตในการบำรุงรักษา อย่างงบฯกระทรวงกลาโหมกระทรวงเดียวก็สามารถตัดได้หลายรายการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงบฯซื้ออาวุธ งบก่อสร้างอาคารที่พักของข้าราชการกระทรวงกลาโหม ถ้าท่านบอกว่า งบฯนี้จำเป็น ก้ต้องถามว่า ทำไมจึงไปตัดงบฯสร้างอาคารเรียนปี 63 ออก แล้วอย่างนี้ การก่อสร้างที่พักให้นายพล และข้าราชการกระทรวงกลาโหมมีความจำเป็น และรองรับวิกฤติโควิดอย่างไร นอกจากนี้ ทุกๆ 1 แสนล้านบาทที่ลดลง เราสามารถลดความสุ่มเสี่ยงที่ประเทศตจะล้มละลายได้ ถ้ารัฐบาลยังยืนยันที่จะใช้งบฯจำนวน 3.3 ล้านล้านบาท และยังทำงบฯเสมือนประเทศอยู่ในภาวะปกติแบบนี้ นอกจากเงินก้อนนี้จะไม่คุ้มค่ากับภาษีของพี่น้องประชาชนแล้ว ยังอาจเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่จะพาประเทศเดินสู่ภาวะล้มละลายทางการคลัง

น.ส.จิราพร กล่าวว่า ตลอด 2 วันที่ผ่านมา สมาชิกทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาลเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยต้องมียุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมหลังวิกฤติโควิด 3 ด้าน คือ 1.อาหารปลอดภัย 2.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และบริการด้านสุขภาพ และ 3.อุตสาหกรรมการแพทย์ และการสาธารณสุข แต่การจัดทำงบฯ 64 กลับไม่ได้จัดทำงบฯเพื่อยุทธศาสตร์ 3 ด้านนี้อย่างชัดเจน ถ้าเป็นตน ตนจะรื้อทำใหม่ทั้งหมด โดยจะต้องจัดงบฯเพื่อยุทธศาสตร์ 3 ด้านนี้พุ่งตรงไปที่กระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยให้มีนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องปฏิรูประบบราชการเพื่อให้มีขนาดเล็กลง มีความคล่องตัว ต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นที่มีอำนาจเต็มในการบริหารงบฯอย่างอิสระ ต้องปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อสร้างคุณภาพให้ทรัพยากรมนุษย์ และต้องแก้รัฐธรรมนูญปี 60 เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศรองรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกจากทั้งภายใน และภายนอก ทั้งนี้ ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการจัดงบฯโดยนายกฯคนเก่า คิดแบบเก่า ทำแบบเก่า แต่ผลที่ได้อาจไม่เหมือนเก่า เพราะอาจเลวร้ายกว่าที่ผ่านมา เพราะเรากำลังเผิญกับสึนามิทางเศรษฐกิจแบบที่ไม่เคยพบมาก่อน หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาครั้งนี้คือมันสมอง และคุณภาพการใช้เงินของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลใช้เงินไม่เป็นจะยิ่งซ้ำเติมวิกฤติ และปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข