สมชัย ข้องใจ รัฐซื้อหน้ากากอนามัยราคา 4.28 บาทจากเดิม 2.50 บาท เพราะต้นทุนแพงหรือเอื้อประโยชน์?

สมชัย ข้องใจ รัฐซื้อหน้ากากอนามัยราคา 4.28 บาทจากเดิม 2.50 บาท เพราะต้นทุนแพงหรือเอื้อประโยชน์?

วันที่ 12 มิถุนายน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผอ.ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะที่ปรึกษา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ตั้งคำถามถึงราคาหน้ากากอนามัยที่รัฐจัดซื้อเพื่อแจกจ่ายในราคา 4.28 บาท จากเดิมที่เคยออกประกาศกำหนดราคาหน้ากากอนามัยไม่เกิน 2.50 บาท ว่าเป็นเพราะต้นทุนสูงขึ้น หรือเป็นการเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการกันแน่

โดยข้อความระบุว่า

ราคาหน้ากาก 4.28 บาทมาจากไหน

ในขณะที่ คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ออกประกาศฉบับที่ 10/2563 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2563 กำหนดให้ราคาค้าปลีกหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ราคาไม่เกิน 2.50 บาท สามารถจับกุมดำเนินคดีผู้ค้าปลีกที่ขายเกินกว่าราคาที่กำหนดได้ และยังมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน

แต่องค์การเภสัชกรรมที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพื่อแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลของรัฐ และให้มหาดไทยไปดำเนินการแจกจ่ายบุคคลที่จำเป็น รวมวันละ 2.5 ล้านชิ้นโดยซื้อตรงจากโรงงานผลิต ในราคา 4.00 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 4.28 บาท

ราคาเพิ่มจากที่เคยซื้อส่งจากโรงงาน 2.00 บาท เป็น 4.00 บาท เท่ากับเพิ่มขึ้นเท่าตัว หรือมีส่วนต่างจากเดิม ชิ้นละ 2.00 บาท

จัดซื้อวันละ 2.5 ล้านชิ้น เท่ากับแพงขึ้น 5 ล้านบาทต่อวัน หรือ 150 ล้านบาทต่อเดือน จัดซื้อมาแล้วนับแต่ต้นเดือนเมษายน 2563 จนถึงปัจจุบัน 3 เดือน เป็นเงินที่ต้องจ่ายเพิ่ม 450 ล้านบาท

องค์การเภสัช แจ้งว่าราคา 4.28 บาท ตนไม่ได้เป็นผู้กำหนด แต่เป็นราคากลางที่คณะอนุกรรมการบูรณาการการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือ รักษาโรคติดต่อโควิด-19 ที่มีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเป็นผู้กำหนด ด้วยเหตุผลคือ ต้องยอมซื้อราคาแพงเพื่อประกันว่าจะมีให้โรงพยาบาลมีหน้ากากอนามัยใช้ได้อย่างเพียงพอ โดยพิจารณาจากต้นทุนที่สูงขึ้นของวัสดุในตลาดโลก

คำถามที่ต้องหาคำตอบ คือ ราคาวัสดุสูงขึ้นจริง แต่สูงขึ้นถึงขั้นที่จะกำหนดราคาต่อชิ้นในการขายส่งทีละนับล้านชิ้นต่อวัน ถึงชิ้นละ 2 บาท หรือไม่

การอ้างว่าแผ่นกรองชั้นกลางที่เรียกว่า Melt-blown หายากและราคาสูงขึ้น มีการผลิตในประเทศจำนวนจำกัด ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ คือข้ออ้างที่สมเหตุผลและได้นำมาคำนวณบนพื้นฐานของราคาที่เหมาะสมหรือเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ

หากรายการหน้ากากอนามัยทางการแพทย์รายการเดียว ยังไม่สามารถให้ประชาชนเห็นถึงความสุจริตโปร่งใส ก็น่าเป็นห่วงยิ่งกับงบโครงการเงินกู้ 400,000 ล้านที่กำลังตามมาว่าจะมีใครได้ประโยชน์อีกเพียงใด


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่