หัวใจหยุดเต้นคร่าชีวิต ผู้นำประเทศบุรุนดี ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 55 ปี

วันที่ 9 มิ.ย. บีบีซี รายงานว่า ประธานาธิบดีปีแยร์ อึงกูรุนซีซา อายุ 55 ปี ผู้นำบุรุนดี ประเทศในแอฟริกาตะวันออก ถึงแก่อสัญกรรมด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้น หลังครองอำนาจด้วยวาระการดำรงตำแหน่ง 2 สมัย ด้วยระยะเวลาทั้งหมด 15 ปี

แถลงการณ์ของรัฐบาลบุรุนดีว่า นายอึงกูรุนซีซาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเมื่อวันเสาร์ที่ 6 มิ.ย. หลังรู้สึกไม่สบายขณะช่วยงานการแข่งขังวอลเลย์บอลที่เมืองอึงโกซี ทางเหนือของประเทศ แม้ว่าในอีกวันต่อมา ผู้นำจะมีอาการจะดีขึ้น และสามารถพูดคุยสื่อสารกับคนรอบตัวได้ แต่เมื่อวันจันทร์ที่ 7 มิ.ย. ประสบอาการหัวใจหยุดเต้น ทีมแพทย์พยายามกู้ชีพแต่ไม่สำเร็จ และรัฐบาลประกาศอาลัยแด่ผู้นำประเทศเป็นเวลา 7 วัน

นายอึงกูรุนซีซามีแผนเกษียนตัวเองในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ หากนายอึงกูรุนซีซายังมีชีวิตอยู่หลังหมดอำนาจ จะได้รับเงินบำเหน็จ 540,000 ดอลลาร์สหรัฐ (17 ล้านบาท) พร้อมคฤหาสน์หรู 1 หลัง ตามที่ประธานสภาผ่านกฎหมายสวัสดิการผู้นำประเทศหลังเกษียณ

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2558 เคยประกาศจะดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่สาม หลังเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดช่อง เพื่อลงสนามการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ท่ามกลางโรคระบาดโควิด-19 ที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งตกเป็นข่าวติดเชื้อด้วย แต่ผู้นำยังดึงดันเดินหน้าจัดต่อไป แถมขับผู้แทนองค์การอนามัยโลกออกจากประเทศ

การอยู่ต่อของผู้นำบุรุนดีเกิดคำถามถึงความถูกต้องตามกฎหมาย และจุดกระแสความโกรธแค้นของประชาชน กลายเป็นความโกลาหลทั่วประเทศ นำไปสู่ความพยายามรัฐประหารแต่ล้มเหลว สังเวยชีวิตพลเมืองหลายร้อยราย และหลายหมื่นคนต้องหลบหนีออกนอกประเทศ

ทั้งนี้ นายอึงกูรุนซีซาเป็นที่รู้จักในฐานะ “ผู้นำสูงสุดของความรักชาติ” ก้าวขึ้นมาสู่อำนาจตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2548 หรือ 2 ปีหลังสงครามกลางเมือง 10 ปี ที่คร่าชีวิตประชาชน 300,000 ราย

ก่อนหน้านั้น เคยรอดชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่ชนเผ่าฮูตุสที่มหาวิทยาลัยบุรุนดีเมื่อปี 2536 และเข้าร่วมกับกองกำลังกลุ่มปกป้องประชาธิปไตย (FDD) ก่อนจะกลายเป็นผู้นำฝ่ายกบฏดังกล่าว และหลังการลงนามข้อตกลงสันติภาพยุติสงครามกลางเมืองเมื่อปี 2546 ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ก่อนที่สภาจะเลือกเป็นผู้นำประเทศ

นอกจากบทบาทการเมือง นาย อึงกูรุนซีซา บัณฑิตสาขาพลศึกษา และอดีตอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยบุรุนดี ยังเป็นผู้ชื่นชอบกีฬาฟุตบอล ครั้งหนึ่งเคยเป็นโค้ชทีมฟุตบอลกองทัพของประเทศ และสมัยเป็นผู้นำประเทศเชียร์สโมสร ฮาเลลูยา เอฟซี

อย่างไรก็ตาม องค์การสิทธิมนุษยชนระบุว่า รัฐบาลของนายอึงกูรุนซีซาละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นวงกว้าง ทั้งวิสามัญฆาตกรรม การบังคับสูญหาย การจับกุมโดยพลการ ความรุนแรงทางเพศ การกรรโชกทรัพย์ การทุบตีทำร้ายร่างกาย และการข่มขู่คุกคาม นอกจากนี้ พุ่งเป้าไปที่นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม และจำคุกนักข่าวจำนวนมาก

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่