‘สมคิด’ไฟเขียวคลังขอเงินพรก.กู้ ตั้งกองทุนขนาดไม่เกิน 1 แสนล. ช่วยผู้ประกอบการรายเล็ก

‘สมคิด’ไฟเขียวคลังขอเงินพรก.กู้ ตั้งกองทุนขนาดไม่เกิน 1 แสนล. ช่วยผู้ประกอบการรายเล็กเข้าถึงแหล่งทุน

ที่กระทรวงการคลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังหารือกับผู้บริหารกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และสำนักงบประมาณ เพื่อทบทวนภาวะเศรษฐกิจว่า ขณะนี้ทุกคนกำลังลำบาก เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มารายงานถึงการปฏิบัติงานที่ผ่านมา ซึ่ง หลายอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย แม้ว่าจะมีอุปสรรคบ้าง แต่แก้ไขไปได้มากแล้ว เรื่องแรกที่ยกขึ้นมาหารือคือขณะนี้ยังมีผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ดังนั้นจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือ เพราะเขาไม่มีความสามารถ ซึ่งกระรวงการคลังกำลังดูโมเดลว่าจะช่วยอย่างไร เบื้องต้นมีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลเป็นการเฉพาะ เพราะกลุ่มนี้จะไปกู้เงินที่ไหนก็ลำบาก

นายสมคิดกล่าวว่า เรื่องที่สองคือกำลังดูแนวทางเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมบางประเภท ที่เขาพยายามดูแลพนักงาน และเขาได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะเร่งดูแลว่าจะทำอย่างไรให้เขาอยู่ได้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในอังคารหน้า ส่วนเรื่องสามมอบหมายให้คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการฟื้นฟูโควิด-19 ดูแลเศรษฐกิจในระยะกลาง  ซึ่งเริ่มประกาศแนวทางออกไปแล้ว ขอให้แจ้งข่าวให้ทุกฝ่ายรับรู้ว่าจะมีอะไร รายละเอียดอย่างไร เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอโครงการเข้ามา  ซึ่งโครงการควรเน้นจ้างงาน สร้างรายได้ และเป็นโอกาสอันดีที่จะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงออกมาใช้ โดยขอย้ำว่าโครงการเหล่านี้ต้องสามารถสร้างงานได้ ซึ่ง สศช.เป็นหน่วยงานกลั่นกรองโครงการต่างๆ อยากให้ทุกคนมาร่วม และ ทุกอย่างต้องโปร่งใส สภาฯ อยากรู้อะไรให้มาร่วม

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า  กองทุนฟื้นฟูจะมีขนาดไม่เกิน 1 แสนล้านบาท เป็นการขอใช้งบประมาณจากการฟื้นฟูวงเงิน 4 แสนล้านบาท จากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งไปดูแลผู้ประอบการรายเล็กเข้าไม่ถึงแหล่งทุน มีประวัติการกู้ไม่ดี หรือผู้ประกอบการท่องเที่ยวยังไม่สามารถไปกู้เงินได้ ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะแตกต่างจากเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน) ของธปท. 5 แสนล้านบาท  สำหรับกองทุนหน้าตาอย่างไร เงื่อนไขการช่วยเหลือเป็นอย่างไร ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังทำการบ้านอยู่ อาจไม่ใช่รูปแบบสินเชื่อพยายามสรุปให้เร็วที่สุด ไม่แน่ใจว่าจะเสนอครม.ได้วันที่ 19 พฤษภาคม หรือไม่

“รัฐบาลเข้าไปดูแลกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ในทุกกลุ่ม ก่อนหน้านี้มีมาตรการดูแลประชาชนดูแลไปแล้วใน 3 ระบบ คือประกันสังคมประมาณ 10 ล้านคน อาชีพอิสระล่าสุดจ่ายเงินไปแล้วถึง 14 ล้านคน กลุ่ม 3 เกษตรกรคือเกษตรกรเริ่มจ่ายวันที่ 15 พ.ค.เป้าหมาย 10 ล้านคน เท่ากับว่ารัฐบาลดูแลประชานได้รบผลกระทบโควิด-19 ประมาณ 35-36 ล้านคน จากแรงงานทั้งหมด 38 ล้านคน ถือว่ารัฐบาลเข้าไปดูแลในระดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้ากลุ่มไหนยังขาด ยังตกหล่นรัฐบาลพร้อมเข้าไปดูแลเพิ่ม”นายอุตตม กล่าว