‘โรม’ ขย่ม มี ส.ว.แบบนี้ไม่มีดีกว่าไหม? หลังข่าว ส.ว.สนิทบิ๊กพรรคการเมืองฝั่งรัฐบาล

‘โรม’ ขย่ม มี ส.ว.แบบนี้ไม่มีดีกว่าไหม? หลังข่าว ส.ว.สนิทบิ๊กพรรคการเมืองฝั่งรัฐบาล

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และโฆษกคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนฯ โพสต์ข้อความแสดงความเห็นส่วนตัวเรื่อง

“เสธ.อ.” ในดราม่าพรรคการเมือง… สรุปแล้ว ส.ว. มีไว้ทำไม? ระบุว่า

ในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมานี้ พี่น้องประชาชนคงได้เห็นข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐกันมาบ้าง

ในส่วนของกิจการภายในพรรคพลังประชารัฐนั้นผมไม่มีความเห็นอะไรเป็นพิเศษ เพราะถือว่าตัวเองก็เป็นเพียงคนนอก แต่เรื่องหนึ่งที่ยังสะดุดใจผมอยู่คือเรื่องของ “เสธ.อ.” ที่มีชื่ออยู่ในรายงานของสื่อว่าเข้าไปมีส่วนในความขัดแย้งนี้ด้วย ซึ่งต่อมาชื่อนี้ก็ถูกเปิดเผยเป็นที่รู้กันว่าหมายถึง พล.อ.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา สมาชิกวุฒิสภา

เมื่อมีชื่อของ ส.ว.เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มันจึงไม่ใช่แค่เรื่องภายในพรรคอีกต่อไป และแม้ว่าคนของพรรคพลังประชารัฐจะได้ออกมาปฏิเสธว่า พล.อ.กนิษฐ์ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับพรรค แต่ผมคงต้องขอสงวนความเห็นไว้ก่อนว่าจะเชื่อท่านหรือไม่ เพราะจากที่ผมได้ติดตามคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.กนิษฐ์เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น มันเผยให้เห็นว่า พล.อ.กนิษฐ์มีความใกล้ชิดกับประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อย่างแนบแน่น ทั้งยังหยั่งทราบถึงความรู้สึกนึกคิดของบรรดา ส.ส.ในพรรคว่ามีความว้าเหว่ ขาดความอบอุ่นจากหัวหน้าพรรคอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่หากเป็นคนนอกจริงๆ แล้วคงยากที่จะไปล่วงรู้ได้

ผมจะไม่ลงรายละเอียดของข้อกฎหมายในที่นี้ แต่ขอตั้งคำถามแบบพื้นฐานเลยว่า การที่ ส.ว.เข้าไปมีส่วนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่งอย่างใกล้ชิดนั้นเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่?

รัฐธรรมนูญฉบับนี้วางบทบาทให้มีบทบาทหน้าที่ในการกลั่นกรองร่างกฎหมายต่อจาก ส.ส. รวมถึงเห็นชอบการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อตรวจสอบการทำงานของ ส.ส.และรัฐบาล ยิ่งโดยเฉพาะกับ ส.ว.ชุดแรกตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแล้วยังมีอำนาจกำกับการทำงานของรัฐบาลให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ สามารถดำเนินการในทางที่ให้คุณให้โทษกับรัฐบาลได้ ความเป็นอิสระของ ส.ว.จึงทวีความสำคัญยิ่งขึ้นไปอีก

ในแง่ของที่มา ส.ว.ชุดนี้ก็มากด้วยข้อครหาอยู่แล้วว่าเป็นเพียงเครื่องมือที่ คสช.สร้างไว้เพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการของตัวเอง หากเมื่อแต่งตั้งขึ้นมาแล้วยังประพฤติตนเช่นนี้อีก แล้วจะให้ประชาชนเชื่อได้อย่างไรว่า ส.ว.จะปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบและกำกับการทำงานของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา ไม่เลือกพรรคที่รัก มักพรรคที่ชัง?

หากเปรียบเทียบกับการพิจารณาคดีในศาล ผู้พิพากษาที่เอาตัวเข้าไปพัวพันกับทนายความ จะทำให้ชาวบ้านเชื่อได้อย่างไรว่าจะพิพากษาอรรถคดีด้วยใจที่เป็นธรรม ยึดหลักกฎหมายเหนือการเล่นพวกพ้อง?

และหากการมีอยู่ของ ส.ว.ยังไม่สามารถเป็นอะไรที่ดีไปกว่าการตัวแทนของผลประโยชน์ที่อยากมีอำนาจวาสนา แต่ไม่อยากถูกตรวจสอบหรือรับผิดชอบต่อประชาชนแล้ว…

ไม่มีดีกว่าไหม?