ศบค.ปัดซ่อนตัวเลขผู้ติดเชื้อ โต้ครหา ‘ตรวจน้อยเจอน้อย’ ยันไม่เกี่ยว ตรวจแบบไทยมาตรฐานโลก

เมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ตอบข้อซักถามกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุที่ยอดผู้ป่วยประจำวันมีจำนวนที่น้อยลง เพราะมีการตรวจน้อยหรือไม่ และทำไมถึงไม่นำชุดตรวจแบบรู้ผลไวหรือแรปปิดเทสต์มาใช้ว่า ที่ผ่านมาเราถูกตั้งคำถามนี้มาตลอดว่าทำไมตัวเลขตรวจของไทยแค่หลักหมื่น ประเทศอื่นตรวจกันเป็นหลักแสน ซึ่งเรื่องต้องเข้าใจด้วยว่า การตรวจมากหรือตรวจน้อย แล้วเจอมากหรือเจอน้อยไม่ได้เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการดูแล เพราะการตรวจแบบ PCR หรือ Polymerase Chain Reaction ที่ประเทศไทยใช้ เป็นวิธีการที่ได้รับรองและเป็นมาตรฐานทั่วโลก เป็นการตรวจหาเชื้อโดยตรงเพื่อหาสารคัดหลั่ง แต่การตรวจแรปปิดเทสต์ หรือแบบรู้ผลไวนั้น เป็นการตรวจภูมิคุ้มกันด้วยเลือด กว่าภูมิคุ้มกันจะโผล่ขึ้นมา ก็ต้องติดเชื้อมาระยะหนึ่ง หรือมีเชื้อมากว่า 10 วันแล้ว ถึงจะได้ผลในการตรวจแบบรู้ผลไว ดังนั้น กว่าจะรู้ว่าติด ในระหว่างนั้นก็อาจจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นไปไม่รู้เท่าไหร่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม วิธีแบบรู้ผลไวถูกใช้ในหลายประเทศ รวมไปถึงผู้ที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยโดยสายการบินต่างๆ แต่กลับมาพบว่าติดเชื้อเมื่อเข้ามาสู่ประเทศไทยแล้ว สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหตุให้กระทรวงสาธารณสุขถึงยืนยันการตรวจแบบ PCR อยู่

“ยืนยันกระทรวงสาธารณสุขคิดทุกสเต็ปและเลือกวิธีที่ดีที่สุด ที่จะมาดูแลพี่น้องประชาชน แม้จะใช้เวลาในการจัดการการตรวจ แต่ก็เพิ่มศูนย์แล็บ โดยใน กทม.จะสามารถตรวจได้ 10,000 เคสต่อวัน และต่างจังหวัดก็จะพยายามทำให้ได้วันละ 10,000 เคสเช่นกัน โดยไม่ต้องหว่านตรวจทั้งหมด แต่ทำเฉพาะกลุ่มเพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดการสิ้นเปลือง ลดความเสี่ยงของบุคลาการทางการแพทย์ด้วย โดยเราดำเนินการโปร่งใสทุกอย่างไม่ได้ซ่อนตัวเลขหรือกดตัวเลขลดลง” นพ.ทวีศิลป์กล่าว