สมคิดสั่งคลังเตรียมมาตรการดูแลศก.ชุดที่ 3 เน้นรับมือภัยแล้ง ลุ้นไทยฟื้นตัวช่วงปลายปี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายหลังออกมาตรกาผลกระทบโควิด-19 ชุดที่ 2 มุ่งเน้นดูแล กลุ่มลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลมีมาตรการดูแลผลกระทบโควิด-19 ระยะแรกไปแล้ว เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ในครั้งนั้นมุ่งดูแลผู้ประกอบการในหลักใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการปลดคนงาน ดังนั้นมาตรการชุดแรกจึงโฟกัสไปที่นั่น มาถึงวันนี้ 2 สัปดาห์ สถานการณ์รุนแรงขึ้น กระทรวงการคลังต้องจัดมาตรการดูแลและเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม ถ้าไม่เพียงพอเตรียมออกมาตรการในชุดที่ 3 ต่อไป

นายสมคิดกล่าวต่อว่า ให้การบ้านกระทรวงการคลังไปแล้วว่าหลังจากนั้นยังต้องช่วยเหลือด้านไหนอีกบ้าง เพราะต้องยอมรับว่าโควิด-19 สร้างผลกระทบทั้งต่อเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและบริการ ดังนั้นการต้องดูแล ถ้าเงินที่มีอยู่ไม่เพียงพอพร้อมออกเป็นพรก.กู้เงินมาใช้เพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้คิดล่วงหน้าแล้ว ถ้าไม่จำเป็นไม่ต้องกู้ แต่ต้องกู้ก็ต้องกู้ และการกู้ต้องเป็นไปตามพรบ.วินัยทางการเงินการคลัง

“จากนี้ในเมษายน-มิถุนายนเข้าสู่หน้าแล้ง มาตรการอีกชุดต้องออกมาดูแลภัยแล้ง ดูแลเกษตรกร และกระตุ้นเศรษฐกิจไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งให้กระทรวงการคลังไปคิดแล้ว และคาดว่าจะออกมาในไม่ช้านี้ ถ้าเราโชคดีจำกัดแพร่ระบาดได้เร็ว ปลายปีน่าจะพัฒนาไปในทางที่ดีได้ กระทรวงการคลังใช้สาขาแบงก์รัฐในการเปิดจุดเปิดของมาตรการทุกอย่างรวมถึงรับเรื่องร้องเรียนด้วย ”นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวว่า ขณะนี้สิ่งที่สำคัญคือระบบสาธารณสุขชีวิตคนไทยต้องป้องกันไม่ให้มีการเสียชีวิต แพร่ระบาด การร่วมมือของภาคประชาชน เอกชน สำคัญมาก การที่ทางการให้อยู่กับบ้านดูแลตนเอง เพื่อลดการแพร่เชื้อ แน่นอนการการหยุดนิ่งย่อมกระทบกับเศรษฐกิจแน่นอน ชีวิตคนต้องมาก่อน การฟื้นตัวไม่ยาก ถ้าหยุดไม่ได้ลากเป็นปี อาการหนักแน่นอน ต้องเสียสละระยะสั้น ประชาชน ฝ่ายค้นต้องให้ความร่วมมือ เชื่อว่าคนไทยจะร่วมมือกันยอ่างดี ถ้าระงับการแพร่ระบาดของไวรัสได้เร็ว น่าจะได้เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี

นายสมคิดกล่าวว่า แม้ขณะนี้การส่งออกจะได้รับผลกระทบ แต่มีการสั่งออเดอร์โดยเฉพาะอาหาร ซึ่งเมื่อจีนฟื้นตัวได้เร็วกว่ายุโรป น่าจะมาช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการส่งออกได้ ส่วนกรณีความกังวลเกี่ยวกับสินเชื่อรถยนต์ที่ไฟแนนซ์ไม่ผ่อนปรนการชำระหนี้ให้นั้น กระทรวงการคลังหารือธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินต่างๆ แล้ว และให้ประสานดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับผู้ที่ผ่อนชำระ