แบงก์ชาติขีดเส้น 2 เดือน ‘งบปี’63-โคโรนา’ ถ้าไม่จบเศรษฐกิจดิ่งแน่! เล็งหั่นGDPใหม่

แบงก์ชาติขีดเส้น 2 เดือน ‘งบปี’63-โคโรนา’ ถ้าไม่จบเศรษฐกิจลงลึกแน่ เล็งหั่นประมาณการจีดีพีปี’63 ใหม่ ส่อลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 2.8%
แบงก์ชาติขีดเส้น 2 เดือน – นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2562 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง แม้จะมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในเดือนธ.ค. 2562 โดยการส่งออกสินค้าที่หดตัวต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ชัดเจนขึ้น ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี การชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากขึ้น รวมทั้งการหดตัวการใช้จ่ายภาครัฐจากงบประมาณ 2563 ที่ล่าช้า ทำให้เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2562 มีโอกาสขยายตัวได้ต่ำกว่า 2.5% ซึ่งจะต้องรอคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทบทวนใหม่ใน เดือนมี.ค. 2563

ในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัจจัยลบหลายด้าน โดยเฉพาะการระบาดของไวรัสโคโรนา กระทบต่อการท่องเที่ยวชะลอตัวลง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมและนักท่องเที่ยวจีนในไตรมาส 1/2563 จะขยายตัวติดลบ รวมทั้งจะกระทบต่อการบริโภคในประเทศทำให้คนไม่กล้าใช้จ่าย และการส่งออกในบางสินค้า เช่น ผลไม้ รวมทั้งความล่าช้าของงบประมาณ 2563 ที่กระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐและส่งผลต่อไปยังการลงทุนภาคเอกชน ซึ่ง ธปท. คาดว่าถ้าเหตุการณ์ทั้ง 2 ปัจจัยไม่คลี่คลายภายใน 2 เดือน หรือเข้าสู่ภาวะปกติในเดือนเม.ย. เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะชะลอรุนแรงตัวกว่าที่คาด

“กนง. จะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในเดือนมี.ค. ซึ่งเดิมคาดว่าในปี 2563 จะขยายตัว 2.8% โดยไม่ได้รวม 2 ปัจจัยนี้ไว้ ซึ่งส่งผลต่อประมาณการที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ในส่วนของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2563 ยังเดิมมองว่าจะขยายตัวได้มากกว่า 2% แต่ถ้ารวมปัจจัยเสี่ยง 2 เรื่องดังกล่าว เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2563 ลงลึกแน่นอน”

นายดอน กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนธ.ค. 2562 ปรับดีขึ้นบ้าง โดยการส่งออกสินค้าหดตัว -1.7% การผลิตภาคอุตสาหกรรม เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวน้อยลง อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลง หลังผลของฐานต่ำจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ตในปีก่อนหมดไป

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานเป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงานที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ขณะที่จำนวนผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรมปรับดีขึ้น ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน

ส่วนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2562 อยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าที่หดตัวต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชัดเจนขึ้น ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี ตามปัจจัยพื้นฐานด้านรายได้และความเชื่อมั่นที่ยังอ่อนแอ แม้จะมีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสักนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ถูกกระทบจากหลายปัจจัย ซึ่งในไตรมาสที่ 4/2562 มีรายงานสัญญาณเศรษฐกิจที่แผ่วลง ทั้งดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) งบลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าการจัดทำงบประมาณปี 2563 ล่าช้า ขณะเดียวกันมีปัญหาภัยแล้งเข้ามากระทบซ้ำเติม ดังนั้นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปี 2562 น่าจะเติบโตต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ หรือต่ำกว่า 2.6%

ส่วนในปี 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ประเมินอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจอยู่ที่กรอบ 2.7-3.7% ส่วนการส่งออกจะเติบโต 2.3% แต่ขณะนี้เริ่มเห็นว่ามีความเสี่ยงเข้ามากระทบเพิ่มเติม โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่ายที่ล่าช้า ประกอบกับปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ที่ส่งผลต่อภายการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยตรง นอกจากนี้ยังมีปัญหาภัยแล้ง

ดังนั้นประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะไม่ได้เป็นไปตามประมาณการณ์ไว้ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องเตรียมมาตรการต่างๆ ไว้รองรับ โดยจะมีการณ์ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจอีกครั้ง