ศาล รธน.รับคำร้อง วินิจฉัย กรณี ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน พรบ.งบ 63 โมฆะหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องวินิจฉัย กรณี ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน ในการโหวตมติ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563

29 ม.ค. 63 – ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องวินิจฉัย กรณี ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน ในการโหวตมติ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 หลัง ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน เข้าชื่อ ส.ส. 193 คน ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร

ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมปรึกษาพิจารณาคดีกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) จำนวน 3 คำร้อง ว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของนายวิรัช รัตนเศรษฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะ จำนวน 109 คน (เรื่องพิจารณาที่ 2/2563) นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะ จำนวน 84 คน (เรื่องพิจารณาที่ 3/2563) และพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะ จำนวน 77 คน (เรื่องพิจารณาที่ 4/2563) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องพิจารณาที่ 2/2563 และที่ 3/2563 มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเป็นประเด็นเดียวกัน จึงให้รวมการพิจารณาทั้งสองเรื่องเข้าด้วยกัน ซึ่งทั้งสองคำร้องเป็นกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จึงเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งความเห็นนั้นมายังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (1) จึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ร้องทราบและให้ผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นางสาวภริม พูลเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายสมบูรณ์ ซารัมย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำชี้แจงเป็นหนังสือพร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563

ส่วนคำร้องเรื่องพิจารณาที่ 4/2563 กรณีพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะ จำนวน 77 คน เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร นั้น เมื่อตรวจสอบคำร้องและเอกสาร ประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า ประเด็นที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นประเด็นเดียวกันกับเรื่องพิจารณาที่ 3/2563 ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้เสนอความเห็นซ้ำกับเรื่องดังกล่าว จำนวน 30 คน จึงทำให้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าชื่อเสนอความเห็นตามคำร้องนี้มีจำนวนไม่ถึงหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (จำนวน 75 คน) กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (1) จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย