“หมอเลี๊ยบ” คาดอัตราเสียชีวิตจากโคโรน่าไวรัสอาจสูงกว่า 10% ย้ำทุกคนอย่ากลัวแต่ไม่ประมาท

วันที่ 28 มกราคม 2563 นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและผู้มีบทบาทสำคัญต่อนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และเคยผ่านช่วงเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกและโรคซาร์ส ได้แสดงความคิดเห็นต่อรูปแบบการระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นับตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน มียอดผู้ป่วยกว่า 4,000 คนและเสียชีวิตแล้ว 106 รายว่า

อัตราตายของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 อาจสูงกว่า 10%

1. โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งเริ่มระบาดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นสายพันธุ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน ความรู้เกี่ยวกับการระบาดและความรุนแรงของเชื้อไวรัสนี้จึงไม่เคยมี ดังนั้น ข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ล้วนแล้วแต่เป็นเพียงการคาดการณ์

2. ในทางทฤษฎี เราเชื่อกันว่า ถ้าเชื้อโรคใดรุนแรงมากและทำให้ผู้ป่วยตายด้วยอัตราสูง จะระบาดได้ยากกว่าเชื้อโรคที่รุนแรงน้อยกว่าและอัตราตายของผู้ป่วยต่ำกว่า

3. เชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ระบาดอย่างรวดเร็วกว่าโรค SARS (อัตราตาย 10%) และโรค MERS (อัตราตาย 30%) ซึ่งเป็นโคโรนาไวรัสเหมือนกัน ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่า เชื้อไวรัสนี้น่าจะรุนแรงน้อยกว่า และอัตราตายของผู้ป่วยน้อยกว่าโรค SARS และโรค MERS

4. มีการคาดการณ์ว่า อัตราตายของผู้ป่วยโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่อยู่ระหว่าง 2-3% ซึ่งเกิดจากการคำนวณด้วยการนำจำนวนผู้เสียชีวิตหารด้วยจำนวนผู้ป่วย (ที่เผยแพร่ออกมาในแต่ละวัน) เช่น ณ สิ้นสุดวันที่ 27 มกราคม 2563 มีผู้ติดเชื้อไวรัส 4,575 คน และผู้เสียชีวิต 106 คน เมื่อมาคำนวณอัตราตายได้เท่ากับ 2.32% (106/4,575)

5. ผมคิดว่า ตัวเลข 2.32% ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะจำนวนผู้ป่วยที่ใช้เป็นตัวหารนั้น ได้นับรวมผู้ป่วยใหม่ซึ่งเพิ่งได้รับการวินิจฉัยยืนยันว่ามีเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 และยังอยู่ในระยะเริ่มการรักษา อาการยังไม่รุนแรงจนถึงขั้นวิกฤต

6. ตัวหารที่ควรเป็น คือใช้จำนวนผู้ป่วยที่ผ่านช่วงเวลาวิกฤตมาแล้ว และยังมีชีวิตอยู่ คำถามคือ ช่วงเวลาที่อาจเสียชีวิตได้นั้น เกิดขึ้นภายหลังได้รับการวินิจฉัยกี่วัน

7. คำถามในข้อ 6 ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน ต้องอาศัยการคาดเดาจากประวัติของผู้ป่วยบางรายที่เกิดขึ้นจริง

8. มีรายงานข่าวว่า ผู้ป่วยรายหนึ่ง อายุ 50 ปี เดินทางไปเมืองอู่ฮั่นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 เริ่มมีไข้วันที่ 15 มกราคม ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไข้โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 เมื่อวันที่ 22 มกราคม และเสียชีวิตวันที่ 27 มกราคม การเสียชีวิตเกิดขึ้นหลังได้รับการวินิจฉัย 5 วัน

9. ผมจึงคำนวณอัตราการเสียชีวิตที่น่าจะใกล้เคียงความจริง โดยใช้จำนวนผู้เสียชีวิต หารด้วยจำนวนผู้ป่วยย้อนหลังไป 5 วัน ดังนั้นจากกรณีการคำนวณในข้อ 4 เมื่อนำตัวเลขผู้ป่วย ณ วันที่ 22 มกราคม (ย้อนหลังไป 5 วัน ซึ่งเท่ากับ 571 คน) มาเป็นตัวหาร อัตราตายเท่ากับ 106/571 หรือ 18.5% ซึ่งสูงกว่าโรค SARS

10. อีกวิธีหนึ่งที่ผมลองคำนวณ คือใช้ผู้ป่วยชุดแรกที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งปรากฏในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Lancet ฉบับวันศุกร์ที่แล้ว พบว่า จากจำนวนผู้ป่วย 41 คน มีผู้เสียชีวิต 6 คน คิดเป็นอัตราตาย 6/41 หรือ 14.6%

11. ดังนั้น น่าจะพออนุมานในเบื้องต้นในขณะนี้ว่า อัตราตายจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 สูงกว่า 10% ไม่ใช่เพียง 2-3% อย่างแน่นอน

12. มีรายงานข่าวด้วยว่า การระบาดของไวรัสนี้เกิดขึ้นได้แม้ยังอยู่ในระยะฟักตัวและผู้รับเชื้อยังไม่แสดงอาการป่วย หากเป็นจริง ก็ค้านทฤษฎีที่เคยเชื่อกันมาซึ่งบันทึกไว้ในข้อ 2

13. เมื่อเผชิญกับเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ สิ่งที่เราควรเตรียมตัวคือ พร้อมเปิดใจรับข้อมูลให้มากที่สุด ไม่ปักใจเชื่อไปในทางใดทางหนึ่ง เก็บรวบรวมสถิติอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และตรงไปตรงมา สรุปข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อรับมือการระบาดอย่างมีสติและเอาจริงเอาจัง

14. ไม่กลัวแต่ไม่ประมาท