อดีตแพทย์ทีมชาติ เตือนวิ่งสู้ฝุ่นอันตราย แนะทางออกช่วงอากาศเลวร้าย

วิกฤตฝุ่นพิษ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยที่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการใดๆออกมาแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

ฝุ่นพิษ นอกจากกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังส่งผลต่อการออกกำลังกายของประชาชนที่ชื่นชอบการวิ่ง โดย นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคอนาคตใหม่ อดีตแพทย์ประจำทีมฟุตบอลทีมชาติไทย และสโมสรสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด เคยให้ความรู้เกี่ยวกับการออกกำลังกายในที่โล่ง ขณะที่มีฝุ่นพิษ ความว่า

เมื่ออากาศเป็นพิษแต่เราติดวิ่ง ติดออกกำลังกายจะทำยังไงดี ?!!! เป็นคำถามที่มีหลายคนตั้งคำถามและมีความเห็นที่หลากหลายในโซเชียล

แน่นอนว่าเรารับทราบกันดีถึงพิษภัยของฝุ่น PM2.5 เพราะมีคนพูดถึงกันมากอยู่แล้ว ซึ่งผมต้องขอย้ำให้ชัดอีกครั้งว่าเจ้าฝุ่นมลพิษนี้อันตรายจริงๆ นะครับ ไม่ได้มาเล่นๆ มีทั้งผลระยะสั้นระยะยาว

แต่… สิ่งที่ยังเป็นคำถามสำหรับคนที่ชอบออกกำลังกายกลางแจ้งคือจะยังพอที่จะออกไปวิ่ง ปั่นจักรยาน เล่นฟุตบอล กลางแจ้งได้มั้ย

ก่อนอื่นผมต้องบอกกล่าวเรื่องการออกกำลังกายให้เข้าใจก่อนว่า ยกตัวอย่างการวิ่งมาราธอนนั้นนักวิ่งที่วิ่งจบในเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง จะมีการหายใจในปริมาณอากาศที่มากกว่าการหายใจ 24 ชั่วโมงในวันที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ตีเป็นตัวเลขคร่าวๆ ได้ว่านักวิ่งมาราธอนจะต้องหายใจเอาอากาศเข้าปอดมาถึง 150 ลิตรต่อนาทีเลยครับ

ถ้าต้องวิ่งในที่ที่มีมลพิษทางอากาศพอๆ กับกรุงเทพ คือมี AQI ประมาณ 200 นั่นหมายความว่านักวิ่งจะได้รับ PM2.5 จากการหายใจมากถึง 13.6 ไมโครกรัมต่อนาที

เมื่อการออกกำลังกายทำให้ได้รับฝุ่นเข้าไปมากก็แน่นอนว่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่า เนื่องจากมีข้อมูลทางวิชาการที่สรุปว่าผลของเจ้าฝุ่นพิษนี้เป็น dose-dependent หมายความว่ายิ่งได้รับเข้าไปมากก็จะส่งผลเสียต่อร่างกายและทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ มากขึ้นนั่นเอง

แล้วแบบนี้ถ้าเรายังอยากออกกำลังกายกลางแจ้ง อยากไปลงวิ่งในงานที่สมัครไว้แล้ว อยากไปปั่นจักรยานจะยังทำได้หรือไม่ ?

จากการศึกษาข้อมูลพบว่า การออกกำลังกายกลางแจ้งในภาวะมลพิษทางอากาศนั้นยังพอทำได้ด้วยการพิจารณาทั้งในส่วนของระดับมลพิษ ความหนักของการออกกำลังกาย และเวลาที่ใช้ในการออกกำลังกาย

ในพื้นที่ที่มี PM2.5 ประมาณ 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะสามารถออกกำลังด้วยการเดิน ได้ไม่เกินวันละ 30 นาที

ถ้าหากมี PM2.5 ประมาณ 160 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะสามารถวิ่งเบาๆ หรือปั่นจักรยาน ให้ HR ประมาณโซน 2-3 ได้ 30 นาทีต่อวัน เพราะถ้าออกกำลังกายมากกว่านี้ก็จะเป็นจุดที่เริ่มส่งผลต่อสุขภาพแล้วครับ

และมีการศึกษาอีกว่าหากออกกำลังกายในพื้นที่มลพิษแต่ AQI อยู่ในระดับสีเหลืองนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อร่างกายในเรื่องของความสามารถในประสิทธิภาพการออกกำลังกาย

มีคำแนะนำเพิ่มเติมอีกว่าถ้าจะต้องออกกำลังกายกลางแจ้งในเขตมลพิษ ทางที่ดีควรออกกำลังกายในสวนสาธารณะหรือในที่ห่างจากถนน รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในช่วงที่มีการจราจรคับคั่งด้วย

สรุป คือ การออกกำลังกายกลางแจ้งในที่ที่มีมลพิษทางอากาศถือเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ
แต่ถ้าหากหากิจกรรมออกกำลังกายในร่มทดแทนไม่ได้ ก็ควรจะต้องทราบระดับของมลพิษในขณะออกกำลังกายนั้นเพื่อปรับความหนักเบาและเวลาของการออกกำลังกายให้เหมาะสม และควรเลือกสถานที่ออกกำลังกายรวมทั้งช่วงเวลาในการออกกำลังกายด้วยครับ