ทุ่ม 1.5 หมื่น ล. ผุดทางด่วนเอ็น 2 | คลังกำหนดกรอบเงินเฟ้อ 1-3% | เอกชนแห่ใช้สิทธิเอฟทีเอ-จีเอสพี

แฟ้มข่าว

อุตฯ เดินหน้ายกเครื่องเอสเอ็มอี

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยถึงแผนงานพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในปีงบประมาณ 2563 ว่า จากข้อสั่งการเร่งด่วนของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการให้ กสอ.เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและยกระดับเอสเอ็มอีที่เห็นผลจริง ภายใต้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวจากปัจจัยต่างประเทศที่มีปัญหาสงครามการค้า ล่าสุดได้กำหนดแนวทาง “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดีพร้อม” โดยงบประมาณ 2563 ที่คาดว่าจะได้รับการจัดสรร 800 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 16,200 คน คิดเป็น 2,200 กิจการ ได้ 9,600 ผลิตภัณฑ์ รวม 70 กลุ่มธุรกิจ ซึ่งทั้งหมดนี้จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 13,000 ล้านบาท โดยนโยบายการปั้นเอสเอ็มอีจะมุ่ง 3 ส่วน คือ เกษตรอุตสาหกรรม เน้นพัฒนาภาคการเกษตรจากเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ นำระบบการผลิตและการบริหารจัดการในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจเกษตร และปั้นธุรกิจเอสเอ็มอีเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็กที่ยังขาดแคลน

แคทลุยประมูลชิงคลื่นความถี่ 5 G

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเตรียมพร้อมร่วมประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีกำหนดจัดการประมูลวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ใน 4 ย่านความถี่ ได้แก่ 700, 1800, 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ และ 26 กิกะเฮิร์ตซ์ ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) มีมติให้เข้าร่วมประมูลได้ หลังจากนี้จะทำเรื่องเพื่อขอความเห็นชอบจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะควบคู่ไปกับการให้ที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมว่าควรจะเข้าประมูลคลื่นความถี่ย่านใด และมูลค่าใด เพราะหากมูลค่าสูงเกินไป ก็ต้องพิจารณาว่าจะเข้าร่วมการประมูลได้หรือไม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในต้นเดือนมกราคม 2563

เปิดข้อมูลพื้นที่ปลูกผลไม้ 4 ชนิด

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการบูรณาการจัดทำข้อมูลปริมาณการผลิตไม้ผลเอกภาพรอบที่ 1 ปี 2563 ว่า ข้อมูลเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่าเนื้อที่ยืนต้นของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จันทบุรี ระยอง และตราด มีจำนวน 713,294 ไร่ เพิ่มขึ้นกว่า 20,484 ไร่ หรือ 2.96% จากปี 2562 มีจำนวน 692,810 ไร่ โดยทุเรียนเพิ่มขึ้น 5.85% เงาะ เพิ่มขึ้น 0.79% ส่วนมังคุดและลองกอง ลดลง 0.16% และ 0.17% ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื้อที่ให้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 637,849 ไร่ เพิ่มขึ้นกว่า 11,510 ไร่ หรือ 1.84% จากปี 2562 มีจำนวน 626,339 ไร่ โดยเพิ่มขึ้นทั้งหมด ได้แก่ ทุเรียน เพิ่มขึ้น 3.08% ลองกอง 1.09% เงาะ 0.92% และมังคุด 0.71% รวมทั้ง 4 สินค้าจะมีประมาณทั้งหมด 991,618 ตัน เพิ่มขึ้น 11.85% จากปี 2562 มีจำนวน 886,535 ตัน

เอกชนแห่ใช้สิทธิเอฟทีเอ-จีเอสพี

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) ช่วง 10 เดือนแรก 2562 มีมูลค่าการใช้สิทธิ รวม 60,316.64 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการใช้สิทธิ 78.03% ลดลง 2.95% สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกที่ลบ 2.4% แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิภายใต้เอฟทีเอ 55,885.19 ล้านเหรียญ คิดเป็น 79.59% ของมูลค่าส่งออกรวมที่ 70,215.10 ล้านเหรียญ ลดลง 4.30% ผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน และเงินบาทแข็งค่า ส่วนจีเอสพีมีมูลค่า 4,431.45 ล้านเหรียญ คิดเป็น 62.51% ของมูลค่าส่งออกกลุ่มสินค้าที่รับสิทธิประโยชน์ มูลค่า 7,089.13 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 18.06%

คลังกำหนดกรอบเงินเฟ้อ 1-3%

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ว่า ครม.มีมติเห็นชอบกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปปี 2563 ในช่วง 1-3% ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรายงานว่าเป็นความเห็นชอบร่วมกันระหว่างผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2563 มีสาระสำคัญคือกำหนดกรอบเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น เอื้อต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สามารถพิจารณานโยบายการเงินได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป อัตราเงินเฟ้อที่ 1-3% เป็นระดับที่เหมาะสม เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย และช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้โลกที่ผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง โดยกระทรวงการคลังและ ธปท.จะหารือร่วมกันเป็นประจำในการติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายของนโยบายการเงิน

ทุ่ม 1.5 หมื่น ล. ผุดทางด่วนเอ็น 2

นายวิชาญ เอกรินทรากุล รองผู้ว่าการฝ่ายกลยุทธ์และแผนงาน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 งานจัดทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 (สายเหนือและสายใต้) กรณีโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน เอ็น 2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร (ก.ม.) วงเงินลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยโครงการนี้ได้ปรับเปลี่ยนเส้นทางใหม่ให้เชื่อมโยงกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อนำไปประกอบการยื่นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2563 และเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) ต่อไป ตั้งเป้าหมายเปิดประกวดราคาประมาณปลายปี 2563 หรือไม่เกินต้นปี 2564

ใช้เวลาก่อสร้าง 2-3 ปี เปิดให้บริการประมาณปี 2566