พลังงานรื้อพีดีพี 2018 ประกาศใช้ภายในไม่เกินกลางปี 63 หลังโซลาร์ปชช.เหลว-รับนโยบาย”สนธิรัตน์”

พลังงานรื้อพีดีพี 2018 ประกาศใช้ภายในไม่เกินกลางปี 2563 หลังโซลาร์ปชช.เหลว-รับนโยบาย”สนธิรัตน์”

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน แจ้งว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2561-80 ครั้งที่ 1 (พีดีพี- 2018 rev 1) เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เบื้องต้นจากการขอความเห็นจากหลายฝ่ายทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ฝ ส่วนใหญ่มีทิศทางในการคงเป้าหมายแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ไว้เท่าเดิม 18,696 เมกะวัตต์แต่จะมีการปรับเป้าหมายรายเชื้อเพลิงใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จเพื่อประกาศใช้แผนที่ปรับปรุงได้ภายในไม่เกินกลางปี 2563

“สาเหตุหลักที่ต้องปรับปรุงแผน พีดีพี 2018 ใหม่ คือการที่โครงการผลิตไฟฟ้าบนหลังคาบ้าน หรือ โซลาร์ภาคประชาชนปี 2562 กำหนดรับซื้อนำร่องปีแรก 100 เมกะวัตต์ไม่เป็นไปตามแผน โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ล่าช้าไปจากแผนเดิม ขณะเดียวกันเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพไม่ได้แยกให้ชัดเจนระหว่างน้ำเสีย/ของเสีย และพืชพลังงาน รวมทั้งต้องรองรับนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ”แหล่งข่าวกล่าว

รายงานข่าวระบุว่า เบื้องต้นมีการนำเสนอความเห็นในการทบทวนพีดีพี 2018 ด้วยการปรับเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จากเป้าหมาย 10,000 เมกะวัตต์สิ้นสุดปี 2580 เป็น 9,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากโซลาร์ภาคประชาชนที่กำหนดเป้า10 ปี(ปี2562-71) 1,000 เมกะวัตต์ ทยอยรับซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์นำร่องปี 2562 ปีแรก เปิดให้ยื่นข้อเสนอติดตั้งในภาคครัวเรือน 24 พฤษภาคม 2562 จนถึงขณะนี้มีผู้เสนอติดตั้งและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมเพียงกว่า 1,500 กิโลวัตต์เท่านั้น แต่เห็นว่าควรดำเนินโครงการโซลาร์ภาคประชาชนต่อไป แต่ให้ปรับรูปแบบใหม่ให้ดำเนินงานง่ายและรวดเร็วขึ้นโดยไม่เพิ่มอัตราการรับซื้อ ซึ่งกำหนดไว้ที่ 1.68บาทต่อหน่วยระยะเวลา 10 ปี

รายงานข่าวระบุว่า นอกจากนี้ยังเสนอให้ปรับรูปแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าชุมชนแทน ขณะเดียวกันเสนอให้เพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน จากแผนเดิม 363 เมกะวัตต์ในปี 2580 เป็น 1,000 เมกะวัตต์เพื่อสนับสนุนนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้สนับสนุนการปลูกหญ้าเนเปียร์ รวมไปถึงการเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานน้ำขนาดเล็กอีกราว 70 เมกะวัตต์

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงงาน(กกพ.) กล่าวว่า กกพ.ได้รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโซลาร์ภาคประชาชนให้กับกระทรวงพลังงานแต่จะเดินหน้าต่อไปหรือไม่อยู่ที่การตัดสินใจระดับนโยบาย อย่างไรก็ตามการยื่นข้อเสนอโซลาร์ภาคประชาชนที่ต่ำกว่าเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ ในปี 2562 เนื่องจากครัวเรือนที่จะติดตั้งหากใช้ไฟฟ้าเพียงเดือนละ 2,000-3,000 บาทการลงทุนติดตั้งระดับ 2 แสนบาทจะไม่คุ้มค่ากับการขายไฟระยะเวลา 10 ปี