พณ.กางผลศึกษาโอกาสของสินค้าเกษตรไทย เข้าตลาดเวียดนาม-เมียนมา

น.ส. พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลศึกษาบทวิเคราะห์ เรื่อง “Growing Markets for U.S. Agricultural Exports: Vietnam, Thailand, and Burma” จัดทำโดยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (United States Department of Agriculture: USDA) ฉบับเดือนตุลาคม 2562 และได้นำมาวิเคราะห์ พบว่า ตลาดเวียดนามและเมียนมา เป็นตลาดสินค้าเกษตรที่ไทยควรรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด และเร่งขยายการส่งออกโดยใช้โอกาสจากการเติบโตของตลาดสินค้าเกษตรในประเทศดังกล่าว

สนค. เผยผลการวิเคราะห์ พบว่า สินค้าที่ไทยควรส่งเสริมเพื่อการส่งออกในตลาดเวียดนาม ได้แก่ 1.ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ปี 2561 ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปเวียดนามมูลค่า 990.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เวียดนามมีการนำเข้าผักและผลไม้เพิ่มขึ้นจากความต้องการในประเทศและการส่งออกไปต่างประเทศ แต่ ผลไม้ในประเทศยังครองส่วนแบ่งการบริโภค เพราะเป็นผลไม้ที่ผู้บริโภคคุ้นเคย ราคาไม่สูง รัฐบาลเวียดนามสนับสนุน การเพาะปลูกผลไม้สดเพื่อส่งออก ทำให้เกิดการพัฒนาการผลิตและเพาะปลูกผลไม้ในประเทศ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยจะต้องปรับตัวเพื่อแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของคุณภาพ บรรจุภัณฑ์ และมาตรฐานสุขอนามัยพืชต่างๆ พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ตอบสนองความต้องการของตลาดมากขึ้น

  1. อาหารปรุงแต่งและเครื่องดื่ม สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ซอสและของปรุงแต่ง และอาหารปรุงแต่ง อุตสาหกรรมอาหารปรุงแต่งและแปรรูปในเวียดนามกำลังมีการเติบโต ผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร ต้องมีการปรับตัวเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก รวมทั้งต้องศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค สำหรับกลุ่มเครื่องดื่ม เครื่องดื่มชูกำลังเป็นสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มไทยที่ส่งออกไปเวียดนามมากที่สุด ปี 2561 มีมูลค่าการส่งออก 440.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้าเครื่องดื่มอัดลมและแอลกอฮอล์ สำหรับเวียดนามมีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณสูง โดยเฉพาะเบียร์
  2. ไม้เนื้อแข็งและไม้แปรรูป สินค้ากลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์ไม้สำคัญของไทยที่ส่งออกไปเวียดนาม คือ ไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board)1 ปี 2562 (ม.ค.- ต.ค.) มูลค่าส่งออก 63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 31.4 เมื่อเทียบกับปีผ่านมา ไทยเป็นผู้ส่งออกไฟเบอร์บอร์ดรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ต้องรักษาฐานตลาดการส่งออกเนื่องจากอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์เวียดนามต้องมีการพึ่งพาการนำเข้าไม้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน อีกทั้งควรเพิ่มการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ประเภทอื่นๆ ไปยังเวียดนาม เช่น ไม้ยางพาราที่มีความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านคุณภาพและราคา เหมาะสมกับการนำไปใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ และวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง

และ 4. สิ่งทอ เวียดนามต้องพึ่งพาวัตถุดิบที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ไทยควรต้องผลักดัน การส่งออกสินค้าในกลุ่มสิ่งทอไปยังเวียดนาม พัฒนากระบวนการผลิตวัตถุดิบสิ่งทอโดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งการลดต้นทุนการผลิต ในปี 2561 ไทยส่งออกสินค้าสิ่งทอไปเวียดนามมูลค่ารวม 521.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 12.8 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ผ้าผืนและด้าย เส้นใยประดิษฐ์

สนค. เผยผลศึกษาสินค้าที่ไทยควรส่งเสริมเพื่อการส่งออกในตลาดเมียนมา ได้แก่ 1.อาหารปรุงแต่งและเครื่องดื่ม ปี 2561 เมียนมามีการนำเข้าอาหารปรุงแต่งจากไทย มูลค่า 88.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่สำคัญได้แก่ อาหารปรุงแต่ง ซอสและของปรุงแต่ง ชาและกาแฟ ชาวเมียนมามีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเพื่อกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตและส่งออกไทยควรศึกษาตลาดและคู่แข่งเพื่อแข่งขันในตลาดเมียนมาซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ได้แก่ น้ำผัก น้ำผลไม้ น้ำแร่และน้ำอัดลม จะได้รับความนิยม ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เมียนมามีระดับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิมในเอเชีย ทำให้มีช่องว่างสำหรับการเติบโตอีกมาก สินค้าเครื่องดื่มไทยที่ส่งออกไปเมียนมาที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องดื่มชูกำลัง ไทยควรหาโอกาสในการขยายการส่งออกน้ำผักและน้ำผลไม้ไปยังเมียนมามากขึ้น ซึ่งผู้ส่งออกสามารถใช้ประโยชน์จากการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าได้

และ 2. อาหารสัตว์ อุตสาหกรรมปศุสัตว์ในเมียนมามีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว อาหารสัตว์จึงเป็นสินค้าส่งออกที่มีความน่าสนใจ เดิมไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดไปยังเมียนมาเพื่อเป็นอาหารสัตว์ โดยเป็นผู้ส่งออกไปเมียนมารายใหญ่ที่สุด ตามมาด้วยสหรัฐฯ ทั้งนี้การผลิตอาหารสัตว์จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านปริมาณและราคาวัตถุดิบที่มีความผันผวนซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ

สนค. รายงานอีกว่า จากข้อมูลการวิเคราะห์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ พบว่า สินค้าเกษตรของสหรัฐฯที่มีโอกาสเติบโตในตลาดเวียดนาม ได้แก่ 1. นมและผลิตภัณฑ์ 2. ไม้เนื้อแข็ง 3. เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ 4. ฝ้าย และ 5. อาหารปรุงแต่ง ตลาดเมียนมา ได้แก่ 1. อาหารปรุงแต่งและเครื่องดื่มอื่น ๆ 2. ผลไม้สด และ 3. ข้าวโพด สำหรับตลาดไทย ได้แก่ 1. นมและผลิตภัณฑ์ 2. สินค้าขั้นกลาง (intermediate products) ได้แก่ โปรตีนเข้มข้น (protein concentrates) และแป้งอัดเม็ด (flour pellets) และ 3. ถั่วเปลือกแข็ง

“ การขยายตลาดการส่งออกสินค้าเกษตร เป็นนโยบายที่กระทรวงพาณิชย์มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยมีโอกาสส่งออกไปต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ จะดำเนินการติดตามข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดสินค้าเกษตร เพื่อหาช่องทางและโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย “น.ส. พิมพ์ชนก กล่าว