วิเคราะห์ : เทคโนโลยีจดจำใบหน้า พื้นที่แห่งเสรีภาพที่น้อยลงในจีน

ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นมา จีนได้เริ่มใช้กฎระเบียบใหม่ ที่ระบุให้คนในประเทศจีนทุกคนต้องสแกนใบหน้าเมื่อลงทะเบียนใช้ซิมการ์ดของโทรศัพท์เคลื่อนที่

ด้วยเหตุผลที่ให้ไว้ว่า “เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของพลเมืองบนโลกไซเบอร์”

โดยกฎระเบียบดังกล่าว มีการประกาศออกมาตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา กำหนดให้บริษัทโทรคมนาคมใช้ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือเอไอ และเทคนิคอื่นๆ ในการตรวจสอบตัวบุคคลที่ลงทะเบียนใช้ซิมการ์ด ซึ่งหน้าร้านค้าที่ขายซิมการ์ดทั้งหมดในประเทศจีนมีเวลาในการเตรียมการถึงวันที่ 1 ธันวาคม ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ดังกล่าว

ทั้งนี้ แต่เดิมนั้น ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่จะต้องมีการลงทะเบียนซิมการ์ด ด้วยบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตอยู่แล้ว และมีบริษัทผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมหลายแห่งที่เริ่มใช้การสแกนใบหน้าของลูกค้ามาตั้งแต่ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ บรรดาสื่อสังคมออนไลน์หลายๆ แพลตฟอร์มก็ได้เริ่มเปิดให้ผู้ใช้ลงทะเบียนใช้งานด้วย “ชื่อจริง” ผ่านทางหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้อยู่

 

เดอะการ์เดียนรายงานเรื่องนี้ไว้ว่า การใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตน เริ่มมีการใช้กันอย่างกว้างขวางมากขึ้นในประเทศจีน ตั้งแต่ในโรงเรียนมัธยมไปจนถึงการแสดงคอนเสิร์ต และการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งเริ่มทำให้เกิดความห่วงกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและการอนุญาตให้ใช้ข้อมูล

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนพฤศจิกายนได้เกิดการฟ้องร้องกันขึ้น ที่เชื่อว่าน่าจะเป็นคดีที่เกี่ยวกับระบบการจดจำใบหน้าคดีแรกของจีน เมื่อศาสตราจารย์กัว ปิง จากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ไซเทค ฟ้องสวนสัตว์ซาฟารีที่เมืองหังโจว ว่า ละเมิดกฎหมายการปกป้องสิทธิของลูกค้า ด้วยการสแกนใบหน้าของเขาและนำเอาข้อมูลส่วนตัวของเขาไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากตัวเขา

ขณะที่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการของจีนได้ประกาศว่าจะทบทวนเรื่องการควบคุมและวางกฎระเบียบเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าในสถานศึกษา หลังจากมีพ่อ-แม่ของนักศึกษาคนหนึ่งไม่พอใจที่มีการติดตั้งซอฟต์แวร์จดจำใบหน้าเอาไว้ภายในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมืองหนานจิง เพื่อคอยติดตามดูการเข้าเรียนของนักศึกษาและในช่วงเข้าห้องเรียน โดยที่บรรดาผู้ปกครองไม่ได้ทราบเรื่องดังกล่าวเลย

บรรดาผู้เชี่ยวชาญยังได้เตือนว่า จีนยังขาดซึ่งกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า ขณะที่มีบริษัทด้านเทคโนโลยีกว่า 20 แห่งในจีนที่เริ่มร่างมาตรฐานอุตสาหกรรมแห่งชาติว่าด้วยเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าขึ้นแล้ว

 

บีบีซีรายงานว่า ประเทศจีนถูกเรียกว่าเป็น “รัฐแห่งการสอดแนม” เมื่อปี 2017 จีนได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วประเทศแล้ว 170 ล้านตัว และภายในปี 2020 ตั้งเป้าว่าจะติดเพิ่มอีก 400 ล้านตัว นอกจากนี้ จีนยังมีการติดตั้งระบบ “ความน่าเชื่อถือบนโซเชียล” เพื่อเก็บคะแนนด้านการปฏิบัติตัวและการมีปฏิสัมพันธ์ของพลเมืองทุกคนให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน

และจีนยังตั้งเป้าว่า ในปี 2020 พลเมืองทุกคนในจีนจะต้องลงทะเบียนในฐานข้อมูลแห่งชาติ เพื่อเก็บข้อมูลของรัฐและข้อมูลการเงิน หลังจากนั้นทางการจีนจะจัดอันดับให้พลเมืองแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม ในการออกกฎระเบียบให้ผู้ลงทะเบียนใช้ซิมการ์ดต้องสแกนใบหน้านั้น กลุ่มสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนมองว่า เป็นอีกก้าวของความพยายามของรัฐบาลจีน ที่ต้องการเฝ้าจับตาประชาชนให้ใกล้ชิดมากขึ้น

ซึ่งเรื่องนี้บรรดาชาวเน็ตของจีน มีความคิดเห็นที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือเห็นด้วยกับกฎระเบียบใหม่นี้ โดยระบุว่า เป็นมาตรการที่จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่าข้อมูลของตัวเองจะปลอดภัย

แต่อีกฟากหนึ่ง กลับไม่เชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลของตัวเอง และมองว่าเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และเป็นความพยายามที่จะเข้าควบคุมประชาชนให้มากขึ้นของรัฐบาลจีน

และอีกหลายๆ คนมองว่า พื้นที่ของเสรีภาพของชาวจีนนั้น ดูเหมือนจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ แล้ว