‘กกร.’​ ไม่เห็นสัญญาณ​ ศก.ไทยฟื้น คงจีดีพีปีนี้โตสุด 3.0%

นายกลินทร์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ว่า ที่ประชุม​ กกร. ประมาณ​การเศรษฐกิจ​ปี 2562 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)​ ขยายตัวที่ร้อยละ 2.7-3.0 ขณะที่ การส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -​2.0-0.0 ส่วนอัตราเงินเฟ้อขยายตัว​ที่ร้อยละ 0.8-1.2 เนื่องจาก​จีดีพีในไตรมาส 3/2562 ที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์​และเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนตุลาคมซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ทั้งการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังไม่ชัดเจน ทั้งนี้ มีเพียงการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนและการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการของภาครัฐ เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชิมช้อปใช้ และการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าค่าเข้า เป็นต้น สำหรับประมาณการเศรษฐกิจ​ปี 2563 ที่ประชุม​ ก​กร. จะรายงานตัวเลขในการประชุมครั้งหน้าในเดือนมกราคม 2563

นายกลินทร์ กล่าวว่า อนาคตแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังขาดแรงหนุนให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงมีอยู่มาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ความไม่แน่นอนเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย นอกจากนี้ ความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ยังมีผลต่อการลงทุนของภาครัฐและเป็นข้อจำกัดหากรัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้สนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก เพราะพื้นฐาน​ของไทยยังแข็งแกร่งโดยมีเงินทุนสำรองจำนวนมาก แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ หากการเมืองนิ่งและมีเสถียรภาพ นักลงทุนก็มีความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเห็นได้จากที่นางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง มาเยือนประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนได้ยื่นขอสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อพิจารณาโครงการซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี

“แม้ภาครัฐ​จะมีมาตรการกระตุ้น​เศรษฐกิจ​หลายด้าน อาทิ มาตรการชิมช้อปใช้ทั้ง 3 เฟส, มาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตร, มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว, มาตรการด้านอสังหา​ริมทรัพย์​ ซึ่งเป็นแรงบวกที่ชดเชยผลกระทบ​จากหลายปัจจัย​กดดันจากภายนอกประเทศได้บ้าง ซึ่ง กกร. เห็นว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ รัฐบาลควรที่จะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4/2562 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 1/2563 ปรับตัวดีขึ้น และรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวไปมากกว่านี้” นายกลินทร์ กล่าว