‘ยูเอ็นดีพี’ เปิดผลวิจัยล่าสุุดชี้ ทัศนะต่อคนหลากทางเพศเป็นบวก แต่ยังมีช่องว่าง-ถูกเลือกปฏิบัติอยู่

งานวิจัยล่าสุดของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP เผยว่าทัศนคติโดยรวมต่อคนที่มีหลากหลายทางเพศเป็นบวก และสนับสนุนให้ออกกฎหมายและนโยบายที่ปกป้องคุ้มครองคนกลุ่มนี้ แต่คนที่มีความหลากหลายทางเพศยังถูกตีตราเลือกปฏิบัติ ใช้ความรุนแรง และแบ่งแยก

หนึ่งในข้อค้นพบที่สำคัญจากงานวิจัยชื่อ รับได้แต่ไม่อยากสุงสิงการสำรวจระดับชาติเกี่ยวกับประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติ และ ทัศนคติของสังคมที่มีต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย คือ ร้อยละ 69 ของคนไทยที่ไม่ได้ระบุว่าตนเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ร่วมตอบแบบสอบถาม มีทัศนคติที่ดีต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่งานวิจัยดังกล่าวยังเผยว่า การยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก โดยเฉพาะในครอบครัว กลุ่มเพื่อน และชนบท ข้อมูลชี้ว่าคนไทยมักยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่อยู่นอกครอบครัวมากกว่าที่จะยอมรับคนในครอบครัวตัวเอง ร้อยละ 53 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศให้ข้อมูลว่าถูกละเมิดทางคำพูด ร้อยละ 16 เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ และ ร้อยละ 42 บอกว่าต้องแสร้งว่ารักเพศตรงข้ามเพื่อให้คนที่โรงเรียน ที่ทำงาน หรือ ที่บ้านยอมรับ

การตีตราและเลือกปฏิบัติส่งผลร้ายแรงต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยร้อยละ 49 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ บอกว่าเคยคิดฆ่าตัวตาย ในขณะที่ร้อยละ 17 เคยพยายามฆ่าตัวตายแล้ว นอกจานี้ เกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศให้ความสำคัญกับการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต แต่หลายคนให้ข้อมูลว่าเจออุปสรรคในการรับบริการดังกล่าว และ ถูกเลือกปฏิบัติในสถานบริการด้านสุขภาพ

งานวิจัยฉบับนี้นับเป็นการศึกษาที่ครอบคลุมที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย ซึ่งสำรวจการถูกเลือกปฏิบัติที่คนที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเจอ และทัศนคติที่คนไทยมีต่อคนกลุ่มนี้ ทั้งนี้ มีคนไทยทั้งหมด 2,210 คนจากทั่วประเทศเข้าร่วมทำแบบสำรวจ โดยเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวน 1,349 คนและคนไทยที่ไม่ได้ระบุว่าตนเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ จำนวน 861 คน รวมถึงการอภิปรายกลุ่มย่อย ในจังหวัดกรุงเทพฯ เชียงใหม่ พิษณุโลก และปัตตานี

แม้ว่าในสังคมไทย จะมีการยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และ เป็นที่รู้จักมากขึ้นในพื้นที่สื่อ และ สังคม แต่คนที่มีความหลากหลายทางเพศหลายคนต้องถูกข่มเหงเพียงเพราะตัวตนของเขา หรือ คนที่พวกเขารัก คุณเรอโนด์ เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทยกล่าวและว่า โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา นายจ้าง ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ สื่อมวลชน และ ภาคประชาสังคม เพื่อนำข้อเสนอแนะจากการศึกษานี้ไปปรับใช้ ให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

แม้จะมีข้อค้นพบเกี่ยวกับการตีตรา และ การเลือกปฏิบัติที่น่าเป็นห่วง แต่การศึกษายังเผยข้อค้นพบที่เป็นบวกด้วย ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ที่เป็นคนที่ไม่ได้ระบุว่าตนเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ สนับสนุนให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าถึงบริการและสิทธิต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม หลายคนสนับสนุนมากกว่าที่จะต่อต้านการให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศได้จดทะเบียนใช้ชีวิตร่วมกับคนที่เขารัก ได้สิทธิรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม การระบุเพศนอกจาก ‘ชาย’ หรือ ‘หญิง’ ในเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนการไม่ปฏิเสธการรับบริจาคเลือดจากชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ตอบแบบสำรวจประมาณร้อยละ 20 รู้สึกเป็นกลางกับประเด็นที่กล่าวมา

กลุ่มที่ให้ข้อมูลว่าถูกเลือกปฏิบัติมากที่สุดคือ ผู้หญิงข้ามเพศ หรือ ผู้ชายรักสองเพศ ร้อยละ 61 ของผู้หญิงข้ามเพศเคยถูกล้อเลียน หรือ ตั้งฉายา ร้อยละ 22 เคยถูกกระทำรุนแรงทางเพศ ร้อยละ 11 เคยถูกทุบตีหรือทำร้ายร่างกาย และ ร้อยละ 8 เคยถูกข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในขณะที่ร้อยละ 14 ของผู้ชายรักสองเพศต้องสูญเสียเพื่อนเพียงเพราะคนที่เขารัก และ กว่าร้อยละ 9 ที่ต้องไม่มีที่อยู่อาศัย

สำหรับการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน การศึกษาพบว่าร้อยละ 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และ ร้อยละ 32 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศให้ข้อมูลว่าเคยถูกเลือกปฏิบัติในงานปัจจุบันที่ทำอยู่หรือในที่ทำงานเก่า ในแง่การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ พบว่าร้อยละ 16 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศเคยถูกเลือกปฏิบัติรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งรูปแบบ

การเลือกปฏิบัติมีหลายรูปแบบและผู้คนที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัตินี้อยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะจากคนในครอบครัว เพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งจากคนแปลกหน้าที่ร้านอาหาร” คุณกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยกล่าว

“ปัจจุบันประเทศไทยกำลังจัดทำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ซึ่งการแก้ปัญหาความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อคนหลากหลายทางเพศนับเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักของแผนชาติฯนี้,” คุณนรีลักษณ์ แพชัยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมกล่าวและว่า ข้อมูล และ ข้อค้นพบจากการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อกระทรวงยุติธรรม และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตลอดจนการนำแผนฯไปปฏิบัติใช้

ข้อค้นพบของการศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการมีกิจกรรม และ โครงการเพื่อลดการตีตรา กำจัดการเหมารวม ตลอดจนเพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลร้ายแรงที่เกิดจากการตีตรา และ การเลือกปฏิบัติต่อคนหลากหลายทางเพศ เพื่อบรรลุสิ่งเหล่านี้ การศึกษานี้ให้ข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา นายจ้าง ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ สื่อมวลชน และ ภาคประชาสังคม ตลอดจนเสนอกิจกรรมที่อาจนำไปสู่สิทธิที่เท่าเทียมของคนหลากหลายทางเพศ การสนับสนุนให้เกิดกฎหมาย และ การยอมรับทางสังคมของคนหลากหลายทางเพศในพื้นที่โรงเรียน สถานที่ทำงาน สถานบริการด้านสุขภาพ และ ภาคประชาสังคม อีกทั้งช่วยให้เกิดการรับรองความหลากหลายของเพศทั้งทางกฎหมาย และ สังคม