เสนาแนะรัฐเพิ่มค่าไฟบูมโซลาร์ปชช. พลังงานยันไม่เพิ่มเงินหวั่นผิดวัตถุประสงค์

เสนาแนะรัฐเพิ่มค่าไฟบูมโซลาร์ปชช. ยัน1.68บ./หน่วยไม่จูงใจต้นเหตุหลุดเป้า พลังงานยันไม่เพิ่มเงินหวั่นผิดวัตถุประสงค์

น.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย(โซลาร์ประชาชน) ที่มีผู้ขอติดตั้งประมาณ 6 เมกะวัตต์ จากเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ในปีนี้ ว่า ทราบว่าโครงการมีผู้สนใจติดตั้งน้อยมาก ซึ่งในจำนวนนี้น่าจะเป็นของเสนาฯมากที่สุดประมาณ 1 เมกะวัตต์ จากการติดตั้งในโครงการบ้านเดี่ยวที่ดำเนินการอยู่ โดยโครงการนี้เสนาฯมองว่าอัตราการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากการผลิตของภาครัฐซึ่งกำหนดไว้ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย ยังถูกเกินไป จึงไม่จูงใจประชาชน ดังนั้นหากภาครัฐจะปรับมาตรการให้จูงใจก็ต้องดูว่าต้องการให้โครงการเป็นรูปแบบไหน หากต้องการให้โครงการโตแบบก้าวกระโดดเข้าใกล้เป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ต่อปี ก็ควรเพิ่มอัตราการรับซื้อไฟฟ้าเท่ากับค่าไฟฐานในปัจจุบันที่อยู่ระดับกว่า 3 บาทต่อหน่วย หรืออาจมีสินเชื่อสำหรับการติดตั้งโซลาร์ เพื่อสร้างแรงจูงใจ แต่หากมองว่าระดับการติดตั้งในปัจจุบันเหมาะสมก็คงไม่ต้องปรับอะไร อยู่ที่การพิจารณาของภาครัฐ และอีกแนวทางหนึ่งที่จะจูงใจคือระบบกักเก็บพลังงาน หรือเอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ เพื่อเก็บไฟไว้ใช้กลางคืนแต่ต้องพัฒนา

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน แจ้งว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างหารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ในการปรับหลักเกณฑ์โครงการโซลาร์ประชาชนให้น่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากพบว่าประชาชนให้ความสนใจน้อยมาก หลังเปิดรับโครงการการตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 เป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ประชาชน 100 เมกะวัตต์ต่อปี ระยะ 10 ปีรวม 1,000 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ 20 ปี พ.ศ.2061-2580 (พีดีพี2018) โดยมาตรการที่เตรียมนำมาใช้อาจเป็นสินเชื่อ หรือการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ เพื่อจูงใจประชาชน แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 1.68 บาทต่อหน่วยเป็นอันขาด เนื่องจากวัตถุประสงค์โครงการคือ สนับสนุนให้ประชาชนใช้เอง เพื่อประหยัดไฟ ไม่ใช่ติดตั้งเพื่อขายไฟคืนรัฐ นอกจากนี้นโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่สนับสนุนให้เดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนจากพลังงานบนดิน หรือพืชพลังงานต่างๆ ดังนั้นจะมีโรงไฟฟ้าชุมชนเข้ามาแบ่งสัดส่วนการผลิตของโซลาร์ประชาชนแน่นอน

รายงานข่าวจากกกพ.แจ้งว่า ข้อมูล ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน มีประชาชนยื่นขอลงทะเบียนและยื่นเอกสารติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ประมาณ 6.4 เมกะวัตต์ จำนวน 1,243 ราย