‘สว.’ หนุนเพิ่มงบลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เปิดเผยว่า  เมื่อเร็ว ๆ นี้ สว.ได้พิจารณารายงานประจำปี 2561 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งส่วตัวมองว่า  กสศ. เป็นกองทุนเดียวที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญ  ในครั้งแรกก็เข้าใจข้อจำกัดเรื่องงบประมาณนี้ว่าอาจจะจัดสรรไม่ได้ถึง 25,000 ล้านบาท แต่ถ้าคำนวณ25,000 ล้านต่อปี ดูแลเด็กและเยาวชนที่เลือกเกิดไม่ได้ 4 ล้านคน คำนวณตกเดือนละไม่เกิน 600 บาท  เป็นปัญหามากมายมหาศาลทุกขั้นตอน ปี 2563 เรายังจัดสรรเงินที่ 5,000 ล้าน จาก25,000 ล้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตัดเหลือ 3,000 ล้าน หน่วยงานที่ตัดงบประมาณ คือหน่วยงานไหน มีเหตุผลอะไร มีความคิดอะไร  เรื่องไหนสำคัญกว่ากัน  สาธารณะน่าจะมีส่วนร่วมรับทราบเรื่องนี้ การช่วยคนยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่มีเงินมีอำนาจจะทำสำเร็จ ผมเห็นว่า กสศ. ได้ถูกออกแบบ ผ่านการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์เป็นระบบ ด้วยงานวิจัยจากต่างประเทศ มีความเชื่อว่าการจัดงบประมาณลักษณะนี้จะทำให้เข้าถึงโอกาส ทำให้ทุกคนเสมอภาคกัน แต่พอเริ่มต้นก็สามารถช่วยคนได้ไม่กี่แสนคน

“ผมไม่โทษกองทุนฯเพราะเงินได้มาแค่นี้ กองทุนต้องทำงานหนัก อย่าท้อถอย เร่งทำงานให้สังคมเห็นความสำคัญ เพราะลงทุน 1 บาทวันนี้ จะได้เงิน 7 บาทในอนาคต เพราะคนเหล่านี้ไม่เป็นภาระ วัยแรงงาน ซึ่งลดจำนวนเงินช่วยเหลือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโตไปเป็นผู้สูงอายุที่พึ่งพาตัวเองได้ คนเหล่านี้พัฒนาศักยภาพ เป็นแรงงานฝีมือเสียภาษีให้รัฐ รัฐก็ลดเงินกู้มาโปะงบประมาณ สามารถสร้างการแข่งขันระดับประเทศ คนเหล่านี้จะเคลื่อนทัพมาเรื่อยๆ กสศ.ต้องช่วยตัวเองในการทำให้สาธารณะข้าใจเรื่องนี้ ต้องร่วมกันสนับสนุน ทำงานใช้เงินคุ้มค่า ลดความซ้ำซ้อน” นพ.เฉลิมชัย ระบุ

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า การเกิดของกสศ.จะเป็นคานงัดการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ แต่วันนี้สิ่งที่หวังว่าจะเป็นคานงัด น่าจะงัดได้น้อยมาก เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าเกิดกองทุนแล้วต้องวิ่งหาเงินเองก็คงไม่ไหว รัฐบาลต้องเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ต้องลดความเหลื่อมล้ำช่วยคนเล็กคนน้อยในสังคม ยกตัวอย่าง กรณีโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นของกสศ. เป็นโครงการเล็กมาก ทั้งที่โครงการแบบนี้เป็นจุดคานงัดที่สำคัญ  แต่ดูจากโครงการแล้วเฉลี่ยได้ครูปีละ 300 คน 5 ปี 1,500 คน ถือว่าปริมาณน้อยมาก เราต้องการทั่วประเทศมากกว่านี้  เรื่องนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เราต้องให้โอกาสคนยากจน ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาให้มากที่สุด  อยากให้มองให้ใหญ่ ขยายผลเห็นหน้าเห็นหลัง

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า  กสศ.ได้รับความร่วมมือย่างดี ทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เป็นกำลังสำคัญทำให้งบประมาณไปถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างดี  ขณะเดียวกันกสศ.มีระบบติดตามผลลัพธ์นักเรียนที่ได้รับทุนเสมอภาค โดยจากการติดตามพบว่าทำให้เด็กไม่ขาดเรียน มาเรียนได้ถึงร้อยละ 98 อีกทั้งมีฐานข้อมูลตามดูผลการเรียนรายบุคคล เมื่อได้รับทุนจาก กสศ.แล้วผลการเรียนก้าวหน้าอย่างไร ทั้งนี้ โดยหลักการ  ถ้ามีการลงทุนเพียงพอ ถูกทาง เน้นฝั่งผู้เรียนเป็นหลัก งบประมาณเจาะเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่จัดงบทั่วไป ภายในเวลา 10 ปี จะพาประเทศไทยออกจากสภาพความเหลื่อมล้ำได้