นักวิชาการท้วงเพิ่ม สพม. 77 จังหวัด ชี้ ‘นักการเมือง-ผู้บริหารระดับกลาง’ ได้ประโยชน์

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยกรณีที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้นโยบายเรื่องการปรับโครงสร้างของ ศธ.โดยมีแนวคิดว่าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ที่ปัจจุบันมีเพียง 42 แห่งทั่วประเทศ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมี สพม.ครบทั้ง 77 จังหวัด ว่า การเพิ่ม สพม.ให้ครบ 77 จังหวัดนั้น เบื้องต้นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ให้นโยบายว่าการเพิ่ม สพม.อาจไม่ต้องครบทั้งหมด 77 จังหวัด แต่อาจจะมากกว่า 42 จังหวัด โดยต้องดูการคมนาคม จำนวนโรงเรียนใน สพม.นั้นๆ ว่ามีโรงเรียนมากน้อยแค่ไหน มีความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งหรือไม่ เช่น จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.เชียงใหม่ คงต้องมี สพม.เป็นของตนเอง หรือ จ.สุมทรสงคราม และ จ.สุมทรสาคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่ใกล้กัน อาจมี สพม.ร่วมกัน เป็นต้น ทั้งนี้ จะรับฟังนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.อีกครั้ง และต้องดูรูปแบบโครงสร้างของ ศธ.ใหม่ด้วยว่าคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.ที่มีนายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน จะออกแบบโครงสร้าง ศธ.เป็นอย่างไร ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล และความเป็นไปได้ ในการจัดตั้งไว้ให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาด้วย

ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศธ.และนายณัฏฐพล ต้องชัดเจนในตนเองก่อน เพราะขณะนี้จำนวนเด็กลดลง จึงมีการควบรวมโรงเรียนมากกว่า 15,000 แห่ง เมื่อจำนวนนักเรียนลดลง แต่เหตุใดจะเพิ่ม สพม.ให้ครบ 77 จังหวัด แล้วการเพิ่ม สพม.เกิดผลดีต่อการศึกษา สามารถพัฒนาเด็ก และครูมากน้อยแค่ไหน ขณะที่การปรับโครงสร้าง ศธ.ที่ทำอยู่ อยากให้เล็กลง ลดความซ้ำซ้อน แต่กลับเพิ่ม สพม.มากขึ้น ถือเป็นอะไรที่มีความย้อนแย้งของวิธีคิดอยู่

“ที่น่าสังเกตคือหลายปีที่ผ่านมา ศธ.และส่วนภูมิภาค ต่างขยายหน่วยงาน อัตรากำลังคนจำนวนมาก เห็นได้จากโครงสร้างของ ศธ., สพท.และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ขยายตำแหน่งกันเยอะมาก ในขณะที่ระดับล่างสุด คือโรงเรียน กลับมีแต่แย่ลง ขาดแคลนทุกอย่าง เป็นการส่งเสริมผิดจุด ผิดงานหรือไม่” นายสมพงษ์ กล่าว

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การเพิ่ม สพม.ให้ครบทุกจังหวัด มีข้อดีคือ หลายปีที่ผ่านมามีความพยายามเพิ่ม สพม.ให้ครบทุกจังหวัด หากนายณัฏฐพลทำสำเร็จ จะได้ใจข้าราชการครู ได้ผลประโยชน์ทางการเมือง ทั้งนี้ การเพิ่ม สพม.ครบทุกจังหวัด จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเขตพื้นที่ฯ ที่ทำงานได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพราะโรงเรียนมัธยมถือเป็นข้อต่อสำคัญของการศึกษาระหว่างระดับชั้นประถม และอุดมศึกษา ควรมีผู้บริหารเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้บริหารระดับกลาง จะได้ตำแหน่ง ได้เงินประจำตำแหน่งมากขึ้น ถือเป็นการกระจายตำแหน่ง

“จุดอ่อนคือ ทำให้งบค่าตอบแทนที่ใช้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายประจำหนักขึ้น เพราะอาจเพิ่มสูงขึ้นกว่า 80% แทนที่จะนำงบลงพัฒนานักเรียน อีกทั้ง โรงเรียนมัธยมมีจำนวนมาก ขนาดที่จะตั้ง สพม.ประจำทุกจังหวัดหรือไม่ ศธ.ต้องดูสัดส่วน จำนวนเด็ก จำนวนครูด้วย อย่างไรก็ตาม การตั้งผู้อำนวยการ สพม.เพิ่มขึ้น ต้องระวังให้ดี ต้องมีเหตุผล ดูความจำเป็น ว่ามีความจำเป็นที่สุดแล้วหรือยัง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นภาระงบ โครงสร้างจะอุ้ยอ้ายเพิ่มขึ้น เหมือนรัฐบาลที่ผ่านมาที่ตั้ง ศธจ.และศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ที่มีปัญหากันอยู่ในขณะนี้ และเรื่องนี้มีการศึกษา มีทฤษฎี มีงานวิจัยที่มารองรับมากน้อยแค่ไหน เพราะประชาชนกำลังคาดหวังในการปรับเปลี่ยน ศธ.ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น ศธ.และนายณัฏฐพล ต้องตอบคำถามที่สังคมสงสัยให้ได้” นายสมพงษ์ กล่าว