“คลัง”เผยชิมช้อปใช้เฟส 3 อยู่ระหว่างศึกษา เพื่อกระตุ้นให้ใช้เงินเป๋า 2 เพิ่ม

นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฎิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่า กระประเมินทิศทางเศรษฐกิจในปี 2563 เบื้องต้นได้มีการประเมินทิศทางเอาไว้แล้ว แต่ตัวมาตรการหรือแนวทางรองรับ คงต้องรอให้พ้นช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2562 ก่อน เพื่อนำภาพรวมของทั้งปี 2562 มาประเมินร่วมกับภาพรวมของปี 2563 โดยภาพรวมเศรษฐกิจของปีนี้ ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวจริง เพราะมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบกับประเทศไทยหลายเรื่อง ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน (เทรดวอร์) การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (เบร็กซิท) และการประท้วงในเกาะฮ่องกง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกระดับของเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งระดับฐานราก กลางและบน

“ภาคเอกชนและนักวิเคราะห์ รวมถึงนักวิชาการต่างๆ ได้ชี้ว่า ขณะนี้การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำได้ง่าย และเห็นผลเร็วที่สุด จะเป็นการกระตุ้นในส่วนของการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งตรงนี้ส่วนตัวก็เห็นด้วยมากๆ ภาครัฐจึงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา โดยเฉพาะมาตรการชิมช้อปใช้ ที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนสูงมาก ส่วนการจะมีชิมช้อปใช้ เฟส 3 ออกมาหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด ว่าจะมีการเพิ่มเติมในส่วนใดบ้าง ที่จะทำให้มาตรการเห็นผลดีและเกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะต้องการให้ผู้ได้สิทธิ ใช้เงินผ่านกระเป๋า 2 มากขึ้น เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินมากกว่านี้”นายชาญกฤชกล่าว

นายชาญกฤชกล่าวว่า ที่ผ่านมา ภาครัฐก็ได้ออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการกระตุ้นฐานราก อย่างตัวประกันรายได้เกษตรกร การส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ในระดับอัตราดอกเบี้ยต่ำ ด้วยการร่วมมือกับธนาคารเอสเอ็มอี ในการออกสินเชื่อเอสเอ็มอีโตไว ไทยยั่งยืน วงเงินกว่า 3,000 ล้านบาท และโครงการส่งเสริมเอสเอ็มอีรายย่อย โดยได้เตรียวงเงินสินเชื่อไว้กว่า 10,000 ล้านบาท และขยายกลุ่มไปยังบุคคลธรรมดา ให้สามารถเข้ามากู้ได้ใ เพื่อไม่ให้จำกัดอยู่ในกลุ่มนิติบุคคลเท่านั้น รวมถึงโครงการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่พึ่งออกมาคือ บ้านในฝันรับปีใหม่

นายชาญกฤชกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าโครงการบ้านในฝัน ที่จะสนับสนุนให้คนในระดับกลาง ได้มีบ้านเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันอาจจะไม่ได้เอื้ออำนวยเท่าที่ควร ทำให้หากมีการกระตุ้นในลักษณะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ ก็น่าจะช่วยกระตุ้นให้ภาคอสังหาฯ กลับมาดูดีขึ้นได้ ในส่วนของมาตรการที่จะออกมาเพิ่มเติม ก็คงต้องศึกษากันต่อไป รวมถึงการจะได้เห็นมาตรการช้อปช่วยชาติส่งท้ายปีออกมาหรือไม่นั้น เบื้องต้นหากประเมินแล้วว่าจำเป็นและช่วยได้จริง ก็อาจจะมีออกมาก็ได้ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีความชัดเจนมากเท่าที่ควร