“วีรศักดิ์” นั่งหัวโต๊ะถกตัวแทนเจ้าของสิทธิ์การ์ตูน แนะผิดครั้งแรกควรตักเตือน

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการหารือร่วมกับบริษัทตัวแทนลิขสิทธิ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) บริษัท เวอริเซ็ค จำกัด บริษัท แอนิเมชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด เพื่อหารือถึงแนวทางป้องกันการแอบอ้างหาประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ และกำชับถึงแนวทางปฏิบัติของผู้รับมอบอำนาจ ให้ดำเนินการตามกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เนื่องจากเกิดกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวผ่านทางสื่อต่างๆ ว่า มีเด็กหญิงวัย 15 ปี ซึ่งหารายได้เสริมด้วยการทำกระทงประดิษฐ์ขาย จากนั้นก็ถูกตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์และเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ที่จังหวัดนครราชสีมา พร้อมเรียกเงิน 50,000 บาท ก่อนที่จะมีการตกลงยอมความกันที่ 5,000 บาท

“เบื้องต้นได้ขอความร่วมมือให้เจ้าของลิขสิทธิ์สินค้าต่างๆ คัดเลือกตัวแทนที่มีคุณภาพเข้ามาร่วมทำงาน เพื่อป้องกันปัญหาการกระทำที่ไม่เหมาะสมของตัวแทน ส่วนกรณของเด็กหญิงวัย 15 ปี มองว่าตัวแทนควรตักเตือนก่อนไม่ใช่จัดการดำเนินคดีในทันที เพราะเชื่อว่าเด็กวัย 15 ปี คงไม่มีเจตนาหรือมีความคิดที่ต้องการทำความผิด และไม่น่าจะคิดทำเองได้ โดยหากมีการกระทำผิดซ้ำเดิม ก็สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้ แต่การทำความผิดครั้งแรกโดยไม่ตั้งใจ ไม่ก็ควรที่จะถูกดำเนินคดีในทันที โดยส่วนตัวรู้สึกสงสาร และจจะมีการเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวเด็กที่ถูกดำเนินคดี เพราะเห็นว่าเด็กและครอบครัวยังอยู่ในอาการเสียใจ และร้องให้ สำหรับในส่วนของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็ยืนยันว่าจะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา และไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแน่นอน”นายวีรศักดิ์กล่าว

นายวีรศักดิ์กล่าวว่า เรื่องในลักษณะนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นข่าว ประกอบกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาจะพบว่า คนที่โทรสั่งให้ทำกระทงรูปการ์ตูนอาจเป็นผู้ที่มีส่วนในการกระทำความผิดด้วย โดยการล่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ดังนั้น จึงไม่น่าจะมีสิทธิที่จะมาร้องทุกข์กล่าวโทษผู้อื่น เพราะไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย อีกทั้งพยานหลักฐานที่ได้มาจากการล่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดอาจถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยหากมีเรื่องในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีก ขอแนะนำให้ผู้ที่ถูกจับกุมใช้สิทธิตามกฎหมายของตน โดยเฉพาะสิทธิที่จะมีทนายความ และหากผู้ที่ถูกจับกุมเป็นเด็กหรือเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี สามารถร้องขอให้มีสหวิชาชีพร่วมฟังการสอบสวนได้ ในส่วนของตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ควรต้องดำเนินการตามกระบวนการที่ถูกต้อง ในขณะเดียวกันก็ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจในการพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมทั้งการตรวจสอบหนังสือมอบอำนาจของเจ้าของลิขสิทธิ์ เพื่อไม่ให้บุคคลบางกลุ่มที่มีเจตนาแสวงหาประโยชน์ในเรื่องนี้อาศัยการจับกุมหรือการควบคุมตัวมาใช้เป็นข้อต่อรองให้ได้รับค่ายอมความอย่างไม่เป็นธรรม

นางสาวนุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมฯได้เชิญตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนจากต่างประเทศ เข้ามาเพื่อหารือถึงแนวทางปฏิบัติว่า จะมีทางการดำเนินการในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างไร โดยต้องการทราบรายละเอียดว่า ปกติแล้วเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถมอบสิทธิให้กับตัวแทนได้กี่ราย มากน้อยเท่าใด ซึ่งได้รับคำตอบว่า แยกเป็นแล้วแต่ละกรณีว่าเจ้าของสิทธิ์จะมอบหมายให้กี่ราย โดยได้ขอความร่วมมือจากบริษัทที่รับเป็นตัวแทนจากเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริง ในการมาขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนดำเนินคดีกับกรมฯ เพราะความจริงก็มีกฎหมายอยู่แล้ว ในระยะแรกก็มีการเข้ามาขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนดำเนินคดีจำนวนมาก แต่ระยะหลังๆ หายไป จึงต้องการให้ตัวแทนทั้งหมดมาขึ้นทะเบียนกับกรมฯให้ครบถ้วน เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบเอาผิด รวมถึงจะอำนวยความสะดวกให้สามารถตรวจสอบสิทธิ์ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ต่อไป

กล่าวว่า กรมฯไม่มีอำนาจในมือที่จะบังคับไม่ให้เกิดการล่อซื้อขึ้น เพราะตามสิทธิพื้นฐานแล้วสามารถทำได้ รวมถึงตามกฎหมายแล้ว การล่อซื้อไม่ถือว่าเป็นความผิด หากมีการกระทำเกิดขึ้นจริง เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการหาหลักฐานแลพยานเพิ่มเท่านั้น แต่หากเป็นการชี้นำให้กระทำจะถือเป็นความผิด ซึ่งจะเป็นขั้นตอนในการสอบสวนต่อไปว่า กรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวถือเป็นความผิดจริงหรือเท็จอย่างไร นอกจากนี้ กรมฯยังอยู่ระหว่างการจัดทำรายชื่องานอันมีลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะตัวการ์ตูน ซึ่งมีทั้งลิขสิทธิ์ของทางสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งทำเป็นรายชื่อออกมาว่าตัวการ์ตูนทั้งหมดเหล่านี้ แท้จริงแล้วเจ้าของเป็นบริษัทใด เพื่อให้หากต้องการนำไปใช้จะได้หาต้นตอในการขอขออนุญาตได้ถูกต้อง