“ศิริกัญญา” ยก 8 เหตุผล คว่ำร่างพ.ร.บ.งบฯ 63 อัดไม่แก้ศก.ฐานราก งบผูกพันเยอะ เบียดบังงบลงทุน

“ศิริกัญญา” ยก 8 เหตุผล คว่ำร่างพ.ร.บ.งบฯ 63 อัดไม่แก้เศรษฐกิจฐานราก-ใช้เงินไร้ประสิทธิภาพ เย้ย ยุทธศาสตร์สร้างความสามารถการแข่งขัน ส่วนใหญ่เอาไปตัดถนน-ใช้หนี้ธกส. เหน็บ “กองทัพบก” งบผูกพันเยอะ คาดใช้ผ่อนจ่ายซื้ออาวุธ เบียดบังโควตางบลงทุนหน่วยงานอื่น ลั่น อย่าโทษฝ่ายค้านถ้าร่างไม่ผ่านสภาฯ เหตุรัฐบาลมีอำนาจปลดล็อกเบิกจ่ายขรก.ได้

วันที่ 17 ตุลาคม 2562 เม่ื่อเวลา 15.00 น.ที่ผ่านมา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่(อนค.) กล่าวอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ว่า จากการศึกษาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯฉบับนี้ พบว่าไม่ตอบโจทย์ 5 โจทย์หลักของประเทศ ได้แก่ 1.วิกฤติเศรษฐกิจฐานราก 2.รัฐราชการรวมศูนย์ 3.ความเหลื่อมล้ำ 4.ขีดความสามารถในการแข่งขัน และ 5.ความไร้ประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ โดย 8 เหตุผลที่ไม่สามารถรับร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ได้ เพราะ 1.ไม่ช่วยแก้วิกฤติเศรษฐกิจฐานราก สิ่งที่รัฐบาลเห็นอยู่อย่างเดียวคือการเติบโตของจีดีพี แต่อย่าลืมว่าอีกด้านหนึ่งของจีดีพีประกอบด้วยรายได้ภาคครัวเรือน รายได้เกษตรกร เป็นต้น การที่จีดีพีโตขึ้นเท่ากับเค้กใหญ่ขึ้น แต่เรารับได้หรือไม่ที่ชิ้นเค้กที่แต่ละคนได้รับนั้นลดลง ถ้าจีดีพีหดตัว 2 ไตรมาสคือภาวะเศรษฐกิจถดถอย แล้วเงินในกระเป๋าของประชาชนต้องหดตัวกี่ปีถึงจะเรียกว่าเศรษฐกิจถดถอย สิ่งที่เราเสนอคือ ตอนนี้เป็นเวลาที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่มานั่งรัดเข็มขัด การก่อหนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติเสมอไป เราไม่ได้อยากเห็นรัฐบาลที่มุ่งเน้นแต่วินัยการเงินการคลัง จนลืมไปว่ายังมีภาคเศรษฐกิจที่ยังต้องการการกระตุ้น วงเงินที่รัฐบาลยังสามารถกู้ได้มีอีกกว่า 2 แสนล้านบาท ภาระหนี้ต่อรายได้สุทธิในปัจจุบันอยู่ที่ 8-9 เปอร์เซนต์ ขณะที่กรอบวินัยการเงินคลังระบุว่าควรอยู่ที่ไม่เกิน 15 เปอร์เซนต์ ดังนั้น ถ้าต้องกู้ก็ควรกู้ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้าหนี้นั้นก่อให้เกิดรายได้และถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอนนี้เราเน้นเมกะโปรเจกต์ แต่ยังขาดการลงทุนเล็กๆน้อยๆเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น เพิ่มโรงกำจัดขยะที่ได้มาตรฐาน

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เหตุผลที่ 2 คือรัฐราชการรวมศูนย์นำไปสู่การกระจายอำนาจที่ถอยหลังลงคลอง งบประมาณที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ได้นั้นเหมือนโดนโกง เช่น ตามพ.ร.บ.ขั้นตอนกระจายอำนาจฯ ระบุเป้าหมายที่ต้องโอนรายได้ให้ท้องถิ่นเป็นสัดส่วนถึง 35 เปอร์เซนต์ของรายได้สุทธิของรัฐบาล แต่จนถึงวันนี้กลับยังอยู่ที่ประมาณ 30 เปอร์เซนต์ นอกจากนั้น อปท.ไม่มีแม้แต่อำนาจที่จะคิดโครงการ เพียงแต่เป็นสถานที่ผ่านงบประมาณไปเท่านั้น เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ นมโรงเรียน เหตุผลที่ 3 คือ การใช้จ่ายงบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ความสามารถในการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นสิ่งที่สะท้อนได้ดี โดยพบว่าตั้งแต่ปี 2558-2562 มีอัตราเฉลี่ยเพียง 60 เปอร์เซนต์ โดยหน่วยงานที่เบิกจ่ายได้ต่ำสุด เช่น กองทัพบก เพียง 42 เปอร์เซนต์ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข 55 เปอร์เซนต์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) 56 เปอร์เซนต์ เหล่านี้เป็นหน่วยรับงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพตามนิยามของสำนักงบประมาณ แต่กลับได้งบลงทุนเพิ่มขึ้นในปี 2563 เหตุผลที่ 4 ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯฉบับนี้ ไม่ได้สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว โดยยุทธศาสตร์สร้างความสามารถในการแข่งขันนั้น เงินส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการสร้างถนนและใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ทั้งที่ความจริงแล้วสิ่งที่เราขาดคือการขนส่งสาธารณะ

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เหตุผลที่ 5 คือการใช้งบประมาณไม่โปร่งใส ทำอะไรข้ามหัวสภาฯ จำนวน 2.5 ล้านล้านบาทคืองบที่ตรวจสอบไม่ได้ ดังนั้น เราต้องการรายละเอียดมากกว่านี้เพื่อให้สภาฯตรวจสอบ เช่น งบภาระผูกพันซึ่งตามกรอบแล้วสามารถผูกพันได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซนต์ เมื่อเข้าไปดูพบว่ากระทรวงกลาโหมมี 21.8 เปอร์เซนต์ ไม่ทราบว่าต้องผูกพันอะไรไปข้างหน้ามากมาย อาจเป็นการผ่อนจ่ายการซื้ออาวุธและสิ่งก่อสร้างต่างๆ นี่เป็นการเบียดบังโอกาสที่กระทรวงอื่นจะใช้โควตานี้ไปใช้ในการลงทุนระยะยาวได้ เหตุผลที่ 6 คือ พรรคราชการเข้มแข็ง แต่พรรคการเมืองอ่อนแอ ตนเห็นใจพรรคการเมืองที่ไม่สามารถคิดค้นนโยบายได้มากนักซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปการเมืองในยุคคสช. ทำให้พรรคไม่สามารถส่งมอบนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ โดยงบประมาณเพียง 2 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่รัฐบาลได้ใช้ไปเพื่อทำตามนโยบายหาเสียง เหตุผลที่ 7 สวัสดิการของประชาชนช่างกระพร่องกระแพร่งแหว่งกลาง เรามีสวัสดิการเด็กจน เรียนฟรีไม่ฟรีจริง มีบัตรคนจนแบบเบี้ยหัวแตก เบี้ยไม่พอยังชีพ และเหตุผลที่ 8 ต้องถามว่าถ้าพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ผ่านสภาฯ เป็นความผิดของฝ่ายค้านหรือไม่ หากทำให้ลูกจ้างหรือข้าราชการเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการจากกระทรวงศึกษาธิการหรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมต่างประสบปัญหาว่าลูกจ้างกำลังจะถูกลอยแพยุติสัญญา เพราะพ.ร.บ.งบประมาณ 2562 ที่ใช้ไปพลางก่อน อาจมีงบไม่เพียงพอ ทั้งที่ฝ่ายค้านพูดมาตลอดว่ารัฐบาลรีบทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณเถอะ อยากดูเต็มทีแล้ว ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 รัฐบาลมีอำนาจสั่งการปลดล็อกเบิกจ่ายได้ทันทีตามหลักเกณฑ์ ฉะนั้น หากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ผ่านสภาฯ แล้วข้าราชการเดือดร้อน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ โดยความเห็นชอบของนายกฯ สามารถปลดล็อกได้ทันที ดังนั้น อย่ามาโทษฝ่ายค้าน

“เราอยากให้เพิ่มงบลงทุนเล็กๆน้อยๆเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างงานในชุมชน ถ้ารัฐส่วนกลางยังเป็นคนคิดให้ ก็จะเกิดความไร้ประสิทธิภาพ ไม่ตอบสนองประชาชน ดังนั้น ควรให้ท้องถิ่นเป็นฝ่ายใช้งบลงทุนและให้บริการสาธารณะ ท่านอาจบอกว่าท้องถิ่นจะมารู้ดีได้อย่างไร ดังนั้น ถ้ายังไม่มั่นใจก็เปิดโหวตให้ประชาชนเหมือนการทำประชาคม เพื่อให้ประชาชนบอกว่าจะใช้งบลงทุนไปกับเรื่องใด นอกจากนี้ เราต้องการสวัสดิการถ้วนหน้าเพื่อชีวิตที่มั่นคงและมีศักดิ์ศรี” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

อย่างไรก็ตาม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลุกขึ้นชี้แจงว่า ในฐานะที่ น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่าลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานกับกระทรวงศึกษาธิการจะถูกลอยแพ ขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากทางกระทรวงศึกษาฯ ได้พิจารณาถึงความเหมาะสม พร้อมยืนยันว่าลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานอยู่กับกระทรวงศึกษาฯ จะได้รับสวัสดิการเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง