แบงก์ชาติยัน ศก.ไทยไม่วิกฤตมีขึ้น-ลงปกติ | สรท.หั่นเป้าส่งออกทั้งปี “62 โต-1.5% | หอค้าถก รมว.ท่องเที่ยวดันท่องเที่ยว

แฟ้มข่าว

หอค้าถก รมว.ท่องเที่ยวดันท่องเที่ยว

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหัวหน้าคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า ได้นำคณะกรรมการเข้าพบนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อหารือถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว อาทิ ขอรับการสนับสนุนแหล่งข้อมูลด้านการท่องเที่ยว และการประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ ของกระทรวงและหน่วยงานภายใต้กำกับการดูแลของกระทรวง โดยได้เสนอให้มีการทำแวต รีฟันด์ไปยังจังหวัดต่างๆ และเพิ่มจุดในการดำเนินการจากเดิมที่กำหนดเพียง 5 จุด รวมทั้งขอให้ช่วยผลักดันเรื่องการสำแดงสินค้าของนักท่องเที่ยวต่อเจ้าหน้าที่ ที่กำหนดโดยกรมสรรพากร โดยให้สำแดงสินค้าเฉพาะยอดที่ซื้อสินค้าเกิน 8,000 บาทเท่านั้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น นอกจากนี้ ยังขอให้ปรับปรุง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว พร้อมทั้งสนับสนุนโครงการพัฒนาการท่องเที่ยว ตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ 2561-2570 ให้มีผลในทางปฏิบัติด้วย

แบงก์ชาติยัน ศก.ไทยไม่วิกฤตมีขึ้น-ลงปกติ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังยืนยันว่าเศรษฐกิจไม่ได้เข้าสู่ภาวะวิกฤต ถึงแม้ว่า ธปท.จะปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เหลือ 2.8% จากเดิมคาดว่าจะโต 3.3% ซึ่งถือว่าเป็นการโตที่ต่ำกว่าศักยภาพและต่ำกว่าปี 2561 ซึ่งโตที่ 4.1% แต่ก็เป็นปกติของเศรษฐกิจที่มีทั้งขาขึ้นและขาลงจากปัจจัยต่างๆ โดยเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ที่ส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกลดลง และกระทบกับการส่งออกของไทย ที่คาดว่าจะติดลบ 1% และเริ่มกระทบกับการลงทุนของภารเอกชนที่คาดว่าจะโตเพียง 3% เท่านั้น

“สมคิด” นั่งหัวโต๊ะกองทุนดีอี 2,000 ลบ.

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 มีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดกองทุนดีอี) โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีการรายงานผลการดำเนินงานของกองทุน ได้แก่ 1.มีการรับทราบข้อมูลการเงินการคลังของกองทุน 2.รับทราบโครงการ จำนวน 195 โครงการ 3.เปิดรับโครงการเพื่อขออนุมัติเงินกองทุน ระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม 2562 วงเงิน 2,000 ล้านบาท 4.นำร่างสัญญาโครงการที่อัยการสูงสุดตีความแล้ว ว่าสามารถดำเนินการได้ให้ที่ประชุมลงมติเห็นชอบ เพื่อดำเนินการต่อไป และ 5.เกณฑ์การอนุมัติโครงการ โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ฟินเทค 2.เฮลล์เทค 3.เอ็ดดูเคชั่นเทค 4.กัฟเวอร์เมนท์เทค 5.อาคิเทค 6.นวัตกรรมดิจิทัล 7.การพัฒนาบุคลากร โดยได้สั่งการให้ผลักดันทุกโครงการอย่างเร็วที่สุดและรอบคอบ พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนและผู้จัดการกองทุนให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน และขอให้เปิดกว้างกับทุกหน่วยงานให้มากที่สุด

สรท.หั่นเป้าส่งออกทั้งปี “62 โต-1.5%

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ได้ปรับลดประเมินคาดการณ์การส่งออกปี 2562 จะติดลบที่ 1.5% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 1% ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาทที่ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ถึงแม้ว่าขณะนี้ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.42-30.66 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงที่กระทบหนักอย่างค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง และปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ขณะเดียวกันได้คาดการณ์การส่งออกในปี 2563 จะเติบโตได้ที่ 0-1% โดยมีปัจจัยบวกสนับสนุนที่สำคัญคือ ความผ่อนคลายของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน (เทรดวอร์) รวมถึงการส่งออกทองคำยังเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนการส่งออก เพราะถูกพิจารณาว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย โดยการส่งออกทองคำ ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โตกว่า 300% สำหรับมูลค่าการส่งออกของเดือนสิงหาคม 2562 ติดลบ 4% มูลค่ารวม 21,914.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2561 ส่งผลให้เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยเกินดุลการค้า อยู่ที่ 2,053 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวมการส่งออกช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) 2562 ยังติดลบ 2.2% มูลค่ารวมที่ 166,091 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้การส่งออกช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 ประเทศไทยเกินดุลการค้าอยู่ที่ 6,106 ล้านเหรียญสหรัฐ

พณ.ติดอาวุธธุรกิจบริการสร้างรายได้

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การค้าภาคบริการ เป็นภาคเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศในระดับสูง อีกทั้งแนวโน้มความต้องการใช้บริการในทุกภาคบริการมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งติดอาวุธด้านการบริหารจัดการธุรกิจแก่ผู้ประกอบการบริการรายย่อยของไทย 4 ธุรกิจ ได้แก่ ร้านอาหาร ดูแลผู้สูงอายุ บริหารทรัพย์สิน และร้านเสริมสวย ให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคงแข็งแกร่ง เพราะจุดอ่อนสำคัญของธุรกิจบริการไทยคือ การบริหารจัดการธุรกิจที่ไม่เป็นระบบ ขาดองค์ความรู้ที่จำเป็นในการบริหารธุรกิจ อาทิ การคำนวณต้นทุน การตลาด การเงินและบัญชี ระบบภาษี ความรู้ด้านกฎหมาย การนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจ รวมทั้งต้องเผชิญกับภาวการณ์แข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้การเพิ่มพูนองค์ความรู้เชิงลึกแบบครบทุกมิติของธุรกิจบริการ จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจและเข้าถึงแก่นแท้ของธุรกิจมากขึ้น

รวมถึงมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น