“หมอเอก” เชื่อแบน 3 สารเคมีเกษตรอันตรายได้ ชี้ต้องศึกษาเพิ่มอีก 155 ชนิดเป็นพิษต่อคน

วันที่ 25 กันยายน 2562 นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต 1 จ.เชียงราย ในฐานะ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตร เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการทำงานของ กมธ. ชุดดังกล่าวว่า ตั้งแต่มีการประชุมนัดแรก กรรมาธิการทุกคนเห็นตรงกันจากข้อมูลที่มีอยู่เยอะมากแล้วว่า น่าจะสามารถแบนสารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซส คลอไพรีฟอส ขณะที่กรรมาธิการจากพรรคอนาคตใหม่เสนอเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากสารเคมี 3 ชนิดนี้แล้ว ควรศึกษาข้อมูลเพื่อจัดกลุ่มสารเคมีที่ชัดเจนแล้วว่ามีพิษต่อคนอีก 155 ชนิด จากสารเคมีที่นำเข้าทั้งหมดกว่า 500 รายการด้วย และนอกจากนี้ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ต้องมีการเตรียมความพร้อมให้เกษตรกร การเยียวยา ชดเชยต่างๆ เพราะมีข้อมูลว่าในหลายประเทศอย่าง ศรีลังกา มาเลเซีย เคยแบนสารเคมีเหล่านี้แล้วมีการนำกลับมาใช้อีกครั้ง รวมทั้งเสนอนำเครื่องจักร เทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมทันสมัยเพื่อทดแทนการใช้สารเคมีทางเกษตร

“การประชุม 2 ครั้งล่าสุด กมธ. ยืนยันว่าจะแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของประชาชน โดยมีการแสดงความไม่เห็นด้วยชัดเจนต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เหมือนว่ามีความยืดเวลา ต่ออายุการใช้ไปเรื่อยๆ อ้างเรื่องของการไปศึกษาเพิ่มเติมก่อนแบน ที่บอกว่าไม่ยกเลิกเพราะอ้างว่าไม่มีสารทดแทน หรืออ้างว่าเกษตรกรร้องเรียนมานั้่น แท้จริงแล้วมีผลประโยชน์อื่นแอบแฝงหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ สำหรับตนเองแล้วเห็นว่าควรที่จะมีการเชิญมาให้ข้อมูลเรื่องนี้ด้วย เพราะคณะกรรมการชุดนี้มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจในหลายๆ รอบที่ผ่านมา เรื่องการการตัดสินใจว่าจะให้ใช้สารเคมี ต่ออายุไปอีกกี่ปี ทั้งนี้ ตามที่ได้กำหนดกรอบการเชิญผู้ที่จะมาให้ข้อมูลไว้บ้างแล้ว อาทิ เกษตรกร นักวิชาการ กลุ่มผู้บริโภค ซึ่งข้อมูลหลายชุดของนักวิชาการเหล่านี้ แทบไม่เคยได้ถูกนำเสนอในคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหญ่เลย” นพ.เอกภพ กล่าว

นพ.เอกภพ กล่าวอีกว่า ทาง กมธ.ได้ตั้งกลุ่มทำงานวิชาการขึ้นมาทำงานชุดหนึ่ง เพื่อศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสารเคมีทางการเกษตร และเสนอว่าจะเชิญใครมาให้ข้อมูลบ้าง นอกจากนี้ มีข้อมูลชุดหนึ่งเราพบสารเคมีในภาคเกษตรที่ใช้ส่วนใหญ่ มีผลกระทบต่อสุขภาพของคน โดยเฉพาะกับพัฒนาของเด็กและมีผลต่อการเป็นโรคเรื้อรังในผู้ใหญ่ด้วย รวมถึงข้อมูลจากการศึกษาโดยเก็บตัวอย่างทางพันธุกรรมของสัตว์เช่น ปู ปลา พบมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างด้วย ดังนั้น ในคนจึงมีความเป็นไปได้ด้วยเช่นกัน คนไทยในอนาคตอาจจะเป็นคนที่สุขภาพแย่ตั้งแต่เกิดก็เป็นได้ และอีกกรณีหนึ่ง ที่ จ. หนองบัวลำภู พบประชาชนมีปัญหาโรคเนื้อเน่าเป็นจำนวนมาก และจากการศึกษาในพื้นที่ปรากฏข้อมูลกราฟชัดเจนว่าในรอบปี จะพบผู้ป่วยโรคนี้สูงขึ้นในช่วงที่มีการเพาะปลูก จึงมีการทำโครงการ ให้เปลี่ยนจากการใช้สารเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ ซึ่งปรากฏว่าเพียงปีแรกก็ได้ผล จำนวนการพบโรคนี้ลดลงอย่างชัดเจน ทั้งนี้ กมธ.เตรียมลงพื้นที่เพื่อดูเรื่องความสำเร็จในการแก้ปัญหาและต่อยอด และอีกพื้นที่หนึ่ง คือ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เตรียมไปดูระบบการเฝ้าระวังการนำเข้าพืชผักผลไม้จากต่างประเทศ เนื่องจากข้อมูลที่ผ่านมาไม่มีการตรวจสารปนเปื้อนสารเคมีที่หน้าด่านอย่างดีพอ