มท.1 ยอมรับ ปริมาณน้ำที่อุบลฯมีมาก สั่ง จนท.ดูแลเข้ม 24 ชั่วโมง

เมื่อวันที่ 13 กันยายน​ ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6)  ดอนเมือง กรุงเทพฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานี ว่า ปริมาณน้ำที่มีอยู่เดิมยังระบายไม่หมด และอย่างที่ทราบ​ มีปริมาณฝนตกลงมามาก อีกทั้งสถานการณ์น้ำฝั่งอำเภอวารินชำราบต่ำไป ทำให้มีน้ำท่วมค่อนข้างมาก ในส่วนของฝั่งอำเภอเมือง​ แม้จะมีการเตรียมการมาโดยตลอด แต่เมื่อประมาณ 01.00 น. มีปริมาณฝนตกลงมาอีก 80 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าหนักมาก ยอมรับว่าฝั่งอำเภอเมืองได้รับผลกระทบมาก สำหรับการดำเนินการในการระบายน้ำ ได้มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำทั้งที่อำเภอพิบูลมังสาหารและโขงเจียม ประมาณ 60 เครื่อง ผลักดันน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด เพื่อลดมวลน้ำ ซึ่งขณะนี้ทำได้เพียงเท่านี้ก่อน ถ้าฝนไม่ตกลงมาเพิ่มอีกตั้งแต่บ่ายนี้เป็นต้นไป สถานการณ์น่าจะดีขึ้น อย่างไรก็ตามในการดูแลประชาชน ทุกภาคส่วนได้ดูแลอย่างเต็มที่ ทั้งความเดือดร้อนความเป็นอยู่และการสัญจร โดยมีจิตอาสา ตำรวจ ทหาร ลงพื้นที่ไปดูแล ขณะที่โรงพยาบาล​ต่างๆ ก็พยายามจะเอาให้อยู่ แต่ต้องยอมรับว่ามวลน้ำมีมาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องมีการย้ายคนออกจากพื้นที่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ตรงไหนที่จำเป็นก็ต้องย้าย เพราะมวลน้ำมีมาก และอุบลฯเป็นพื้นที่ต่ำด้วย พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ในทุกๆสายน้ำ ทั้งแม่น้ำชี​ แม่น้ำมูล​ และน้ำในเขื่อนขณะนี้มีการชะลอน้ำ แต่ปัญหาอยู่ที่น้ำท่า มีมากและไหลลงสู่ที่ต่ำ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบ แต่ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้เตรียมเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง พยายามพยายามระบายน้ำที่ค้างออกให้เร็วที่สุด คิดว่าเอาอยู่ แต่เมื่อคืนฝนตกลงมา สูงมากถึง 80 มิลลิเมตรในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้ระดับน้ำขึ้นสูง

เมื่อถามว่า​ นอกจากที่จังหวัดอุบลราชธานี​แล้วยังมีที่จังหวัดอื่นอีกหรือไม่ที่ต้องเฝ้าระวัง​ พล.อ.อนุ​พงษ์​กล่าว​ว่า​ ก็มีเฝ้าระวัง เพราะอย่างที่ทราบกัน แต่ปัญหาไม่หนักเท่าที่อุบลราชธานี ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ดูแลประชาชนให้ดีที่สุด และให้ปรับแผนงานทุกหน่วยงานตามที่มีกระแสรับสั่งลงมา อย่างไรก็ตาม​ ทุกหน่วยงานได้เตรียมการในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างดี พร้อมติดตามสถานการณ์ และแจ้งเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประชาชนเองก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี​ เมื่อบอกให้ย้ายหรืออพยพก็ยอมออกจากพื้นที่​ ซึ่งการสูญเสียส่วนหนึ่งก็เกิดขณะช่วงอพยพที่โดนน้ำพัดพาและเรือล่มบ้าง โดยหลังจากนี้จะดูแลเยียวยา รวมถึงซ่อมแซมบ้านเรือนให้กับประชาชน