‘จุรินทร์’ แนะอาเซียนฟื้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านส่งเสริมเกษตรกร เล็งจัดคณะเยือนอินเดียปลาย ก.ย.

‘จุรินทร์’ แนะอาเซียนฟื้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านส่งเสริมเกษตรกร เล็งจัดคณะเยือนอินเดียปลาย ก.ย.

เมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพ ภายหลังการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน บวก 3 (จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาสรุปถึงการประชุมในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 5-10 กันยายน 2562 ว่า ตั้งแต่การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาร์เซ็ป และรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับคู่เจรจาการค้า หลังจากวันที 6 กันยายน 2562 พิธีเปิดการประชุมแล้วก็มีการดำเนินการประชุมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมสำคัญวันนี้คือ การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา โดยเริ่มต้นจากการหารือทวิภาคีระหว่างไทยกับอินเดียเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ช่วงเช้า ต่อมาเป็นการประชุมอาเซียนบวก 3 กับประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือเอเชียตะวันออก แล้วการประชุมต่อมาจะเป็นอาเซียนกับรัสเซีย อาเซียนกับอินเดีย สุดท้ายคืออาเซียนกับแคนาดา

นายจุรินทร์กล่าวว่า กรณีอินเดียนั้นมีประเด็นที่เปิดเผยได้ 2-3 เรื่อง คือไทยและอินเดียเห็นพ้องกันในเรื่องเอฟทีเอไทยกับอินเดียว่าควรจะมีความคืบหน้าไปทิศทางที่ดี เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกันให้เพิ่มเติมขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากตัวเลข 7 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการค้าขยายตัวแค่ 4.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วขยายตัวถึง 20% เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นเหตุผลสำคัญอันหนึ่ง สำหรับประเทศไทยเรานั้นส่งออกเครื่องปรับอากาศไปอินเดียจำนวนมากและมีเคมีภัณฑ์ คอมพิวเตอร์รถยนต์และชิ้นส่วน กับที่เรานำเข้ามาก็คือเครื่องจักรกล เพชรพลอย เวชภัณฑ์ ยา เหล็ก และปลาแช่แข็ง

“วันนี้ ทางเราได้แจ้งให้ทราบว่ามีคณะที่จะเดินทางไปอินเดียเพื่อเจรจาเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันในช่วงวันที่ 24 -28 กันยายนนี้ โดยส่วนหนึ่งมีความตั้งใจที่จะไปเจรจาขายสินค้าทางการเกษตรให้กับอินเดียด้วยไม่ว่าจะเป็นยางพารา ปาล์ม และมันสำปะหลัง ส่วนเรื่องการประชุมที่เพิ่งเสร็จไปคืออาเซียนบวก 3 มูลค่าทางการค้าระหว่างกันในปี 2561 ที่ผ่านมามีมูลค่าถึง 8 แสนกว่าล้านบาท คิดเป็น 31% ของมูลค่าการค้าอาเซียน ส่วนมูลค่าในเรื่องการลงทุนนั้นมีมูลค่ารวมกัน 37.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นคิดเป็น 24.5% ของมูลค่าการลงทุนของอาเซียน โดยประเด็นหารือที่สำคัญเปิดเผยได้คือทั้งอาเซียนและ 3 ประเทศนี้เห็นพ้องกันว่าในความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะทางการค้าของโลก ดังนั้น จะต้องมีแนวทางการพัฒนาการค้าและการลงทุนที่มีความเหมาะสมต่อไปในด้านของ ทุกประเทศเห็นตรงกันว่าควรผลักดันการประชุมอาร์เซ็ป (การประชุมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาค 16 ประเทศ) ให้จบให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ในการประชุมเดือน พฤศจิกายน 2562 เพราะอาร์เซ็ปจะมีประโยชน์ทั้งด้านสินค้าและบริการการลงทุนและจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการค้าการลงทุนให้กับนักธุรกิจทั้ง 16 ประเทศเพราะจะทำให้มีกฎระเบียบอย่างเดียวกันแล้วส่งผลต่อเอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี ให้สามารถเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ด้วยและจะต้องมีการเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิตอล-อีคอมเมิร์ซ รวมทั้งจะต้องยืนยันหลักการค้าเสรีในการสนับสนุนกฎเกณฑ์ของดับบลิวทีโอ WTO และเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานทั้งวัตถุดิบปัจจัยการผลิต การแปรรูป การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วย”

ทั้งนี้ การประชุมเป็นผลสำเร็จร่วมกันของทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย และมั่นใจว่าถ้าการเจรจาประสบผลสำเร็จประเทศไทยก็จะเป็นหนึ่งใน 16 ประเทศที่จะได้รับประโยชน์เพราะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม และลงลึกไปถึงเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอีและจะช่วยภาคเอกชนสามารถจะส่งออกสินค้าไปในตลาดที่มีผู้บริโภคมากถึง 3,500 ล้านคนในภูมิภาค เป็นครึ่งหนึ่งของประชากรโลกและจะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนไทยที่จะไปลงทุนในอีก 15 ประเทศด้วย

นอกจากนั้น ระหว่างอาเซียนด้วยกันก็ได้รับประโยชน์ซึ่งประเทศไทยก็จะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งเป็นผลดีมากและสามารถเพิ่มจีดีพีของประเทศได้ รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจทุกระดับโดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก เป็นการช่วยเกษตรกรด้วยเพราะช่วยให้ผู้ที่ผลิตพืชผลการเกษตรสามารถมีตลาดส่งออกที่ใหญ่ขึ้น แทนที่จะส่งออกเฉพาะประเทศใกล้เคียงหรือกลุ่มอาเซียนแต่จะเป็นการส่งไปอีก 6 ประเทศด้วย ทั้งจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย