‘ครูตั้น’ หารือ ‘สุวิทย์’ ยกเครื่อง ‘ผลิตครู’ ดัน มหา’ลัยปั้นแม่พิมพ์รับนโยบายรัฐ

เมื่อวันที่ 9 กันยายน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ว่า ตนได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบนโยบาย ศธ. โดยเฉพาะเรื่องการผลิตพัฒนาครู ซึ่งครูที่อยู่ในระบบ เป็นหน้าที่ของ ศธ.ต้องดูแล แต่ครูที่กำลังจะเข้ามาในระบบนั้น ในอนาคตไม่อยากให้มีการเสียงบประมาณซ้ำซ้อน รับเข้ามาแล้วยังต้องพัฒนาเพิ่มเติมอีก ดังนั้นเร็วๆ นี้จะพูดคุยทำความเข้าใจกับฝ่ายผลิตครู ให้ชัดเจนว่า ศธ.ต้องการครูที่มีคุณสมบัติและมาตรฐานอย่างไรบ้าง เช่น ในอนาคตเราต้องการครูที่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษ ก็ต้องดูว่ามาตรฐานในการสอนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยเพียงพอหรือไม่ เป็นต้น

“การผลิตครูเป็นเรื่องสำคัญ หากมหาวิทยาลัยยังมีความเข้มข้นในการเรียนการสอนไม่เพียงพอ ก็ต้องมาพัฒนาต่อ เหมือนที่ ศธ.กำลังจะพัฒนาครูที่อยู่ในระบบ ซึ่งวางแผนว่าอีก 3 ปี ครูต้องสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ ดังนั้นทำไมเราไม่หารือ และให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการให้เข้มข้นขึ้น ซึ่งสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วยก็รับทราบ และเตรียมจะพูดคุยกับมหาวิทยาลัยต่อไป ขณะเดียวกันที่ผ่านมาได้หารือกับนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อย่างไม่เป็นทางการ แต่เร็วๆ นี้จะนัดหารืออย่างเป็นทางการเพื่อวางแผนร่วมกันอีกครั้ง” นายณัฏฐพลกล่าว

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า การผลิตครูแต่ละภาคส่วน มีความเข้มข้นต่างกัน เช่น ครูปฐมวัย ครูประถมศึกษา และครูมัธยม จิตวิทยาในแต่ละช่วงอายุของเด็กต่างกัน ดังนั้นการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ก็ควรต้องแยกให้เหมาะสมในแต่ละระดับ ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ต้องสื่อสารให้มหาวิทยาลัยรับทราบ ส่วนการผลิตครูในระบบปิด เช่น การผลิตแพทย์ เท่าที่ดูหลายประเทศสามารถดำเนินการได้ เช่น สิงคโปร์ หรือฟินแลนด์ เพราะเป็นประเทศเล็ก มีขนาดที่ยังสามารถบริหารจัดการได้ แต่ประเทศไทย ตนมองในเรื่องของภูมิภาค ถ้าเข้าใจและรู้ถึงความต้องการของแต่ละภูมิภาคว่าต้องการอย่างไร ก็จะสามารถบริหารจัดการได้ เช่น การผลิตครูช่างเครื่องบิน ตอนนี้มีสถาบันที่เปิดสอนเรื่องการบินพลเรือนจำนวนมาก และในอนาคตจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่และภูเก็ต ก็ควรเปิดสอน ไม่ใช่กระจายทั่วประเทศ ต้องมองว่าอนาคตจะเกิดอะไร ถ้ามองเรื่องการบินพลเรือน ตนมองว่าการผลิตบุคลากรมาเสริมอีก 3 ปีข้างหน้า น่าจะพอ แต่คนที่มีคุณภาพ รองรับการเจริญเติบโตของประเทศที่จะเป็นศูนย์กลางการบินในเอเชีย อาจจะไม่ได้มีคุณภาพ เด็กที่เราผลิตพร้อมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับครู ครูอาจจะยังไม่พอ เรื่องนี้ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป