‘ปิยบุตร’ อภิปรายรายงานประจำปีศาลรธน. ขอกม.ดังแทนเสียงปืน

‘ปิยบุตร’ อภิปรายรายงานประจำปีศาลรธน. ขอกม.ดังแทนเสียงปืน ‘เลขาธิการศาลรธน.’ยัน ต้องคุ้มครองการวิจารณ์ และคำสั่งศาล

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณารับทราบรายงานประจำปี 2560 ของศาลรัฐธรรมนูญ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า ในช่วงที่เป็นนักวิชาการได้วิจารณ์คำวินิจฉัย และการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญอยู่เสมอ ด้วยความปรารถนาดีอยากให้ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ระบบนิติรัฐ นิติธรรม รักษากฎหมายสูงสุดของประเทศ ตรวจสอบเสียงข้างมาก คุ้มครองเสียงข้างน้อย และสิทธิของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะเผชิญหน้ากับสภาในฐานะองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากที่มาไม่เชื่อมโยงสภา เชื่อมโยงกับส.ส มีที่มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง และให้สมาชิกวุฒิสภาลงมติรับรอง

นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า ในรายงานประจำปีของศาลรัฐธรรมนูญ ได้รวบรวมสถิติคดีตั้งแต่ปี 2551 – 2560 พบว่า ตั้งแต่ปี 2557 จำนวนคำร้องลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะปี 2557 เป็นปีที่มีการรัฐประหาร ซึ่งปกติเมื่อปีรัฐประหาร สิ่งแรกๆที่คณะยึดอำนาจต้องทำ คือยกเลิกรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ต้องแสดงบทบาทไม่เห็นด้วย เมื่อมีการรัฐประหารนอกจากคณะยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญแล้วยังต้องออกประกาศยุบศาลรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฎว่า คสช.ให้อยู่ต่อ เมื่อสภาพการณ์เป็นแบบนี้ จำนวนคดีลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 รับรองแล้วว่า คสช.ถูกเสมอ แม้ศาลรัฐธรรมนูญอยากตรวจสอบคณะรัฐประหารก็ทำไม่ได้

“เวลารัฐประหารเสียงปืนดังขึ้นกฎหมายก็เงียบลง วันนี้เรามีรัฐธรรมนูญ 2560 มีรัฐบาลใหม่แล้วหากการถวายสัตย์สมบูรณ์จริง วันนี้เสียงปืนสงบลงแล้ว จะถึงเวลาที่กฎหมายกลับมาดังขึ้นเหมือนเดิมได้หรือไม่ เพราะวันนี้ยังมีประกาศคำสั่งคสช.จำนวนมาก ที่มีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ แต่มีเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งคนร่างรัฐธรรมนูญมองการณ์ไกลว่า อะไรที่ชอบในรัฐธรรมนูญ 2557 ให้ชอบในรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย ดังนั้น เราจึงต้องพยายามผลักดันแก้ไขให้ยกเลิกมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อตรวจสอบคำสั่งคสช.ให้ได้ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร อภิปรายถึงการวิพากษ์วิจารณ์คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 38 ของพ.ร.บ.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า การวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญแบบไหนจึงจะเข้าเงื่อนไข ว่าเป็นการวิจารณ์โดยสุจริตไม่หยาบคาย ไม่อาฆาตมาดร้าย สมมติ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ถามว่า ตนวิจารณ์ได้หรือไม่ แล้วจะโดนข้อหาละเมิดศาลหรือไม่ อยากให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ อดทน อดกลั้น ต่อคำวิพากษ์วิจารณ์

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา มีคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญมากถึง 120 คำร้องขึ้นไป และสามารถพิจารณาเสร็จสิ้นเป็นสัดส่วนจำนวน 50-100% มีเพียงปี 2558 มีคำร้องเข้ามา 3 คำร้อง พิจารณาเสร็จ1เรื่อง จึงตั้งข้อสังเกตุว่า ทำไมปี 2558 มีคำร้องน้อยแต่ไม่สามารถพิจารณาให้เสร็จสิ้นหมดได้ ส่วนเรื่องการฝึกอบรมบุคคลากรของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับการเปิดหลักสูตรโครงการอบรมหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย(นธป.) เพราะไม่อยากให้องค์กรด้านความยุติธรรมเปิดหลักสูตรพิเศษ เนื่องจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกมาใกล้ชิดกับบุคคลากรด้านยุติธรรม จะเกิดการสร้างระบบอุปถัมภ์ หรือ สร้างคอนเน็กชั่นหรือไม่

ขณะที่ นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า กรณีที่นายปิยบุตร ไม่เห็นด้วยกับการคุ้มครองการละเมิดอำนาจศาล ขอเรียนว่า การคุ้มครองนั้นมีเจตนารมย์สองด้านคือ คุ้มครองความสงบเรียบร้อยการพิจารณา และคุ้มครองคุณธรรมกฎหมายที่ศาลใช้พิจารณา ซึ่งครอบคลุมทั้งในห้องพิจารณาและผลการวินิจฉัยของศาล ซึ่งการวิจารณ์ศาล ก็ถือว่า อยู่ในข่ายที่ต้องควบคุมและคุ้มครอง เป็นสองด้านของเหรียญเดียว ส่วนที่บอกว่าควรใช้อดทนอดกลั้นแทนการคุ้มครอง จากประสบการณ์ 20 ปี ภาพในทางร้ายทางดีได้นำไว้ไปในพิพิธพันธ์ของศาลตลอดมา เป็นที่เรียนรู้และพัฒนาการการรับผิดชอบรัฐธรรมนูญ เป็นหลักการดำรงนิติธรรมของบ้านเมือง การคุ้มครองการละเมิดอำนาจศาลตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จึงเป็นไปตามเหตุผลตามประสบการณ์ศาลและหลักวิชาการที่ทุกศาลย่อมได้รับการคุ้มครอง

“กรณีที่ท่านเคยให้ความเห็นทางวิชาการของศาล โดยไม่เคยถูกฟ้องร้องนั้น การคุ้มครองตามหลักวิชาการ สุจริต จะได้รับความคุ้มครอง ต้องไม่เสียดสี หยาบคาย โดยการคุ้มครองนั้น ก็มีทั้งการตักเตือน หรือให้พ้นจากเขตอำนาจ แต่อีกส่วนก็มีเรื่องทางอาญาประกอบกันด้วย ส่วนคดีที่ลดลงในปี 2557 ที่มีการรัฐประหาร ก็ขอเรียนว่า เป็นคดีทางการเมืองไม่ใช่คดีทั่วไป ในระหว่างเหตุการณ์พิเศษ จึงไม่มีข้อพิพาทมายังศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนที่มีคำสั่งคสช.คุ้มครองสถานะของตุลาการฯ ยืนยันว่า จะไม่มีส่วนกับการทำให้ศาลเป็นกลาง หรือเป็นคุณเป็นโทษกับคสช.แต่อย่างใด ขอเรียนข้อเท็จจริงว่า มีการเชิญไปประชุมกับคสช.กับทุกหน่วยงาน แต่ก่อนประชุม มีหนังสือมาแจ้งยกเลิก ไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญไปร่วมประชุมกับองค์กรอื่นๆ เพราะคสช.เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตุลาการ จะไม่มีการเข้ามาควบคุมแทรกแซงใดๆ คสช.ตระหนักในความเคารพศาลรัฐธรรมนูญ” นายเชาวนะ กล่าว