‘อุตตม’ดันมาตรการกระตุ้นเข้าครม.เศรษฐกิจ 16 ส.ค. รับมือสงครามการค้า ให้รอดูใช้งบ 5 หมื่นล.

นายอุตตม สาวนายน โฟสต์เฟซบุ๊ก ดร.อุตตม สาวนายน ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า เป้าหมายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน วันนี้เราต้องเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจที่หินมาก เพราะรายละเอียดหลักๆไปเกี่ยวโยงกับความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามเราสามารถทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเข้มแข็งได้ด้วยตัวเอง คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เวลานี้เศรษฐกิจโลกกำลังผันผวนอย่างหนัก จากกรณีสงครามการค้า ทั้งสหรัฐฯ-จีน หรือกรณี ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ อีกทั้งประเทศที่มีบทบาททางเศรษฐกิจกับไทยหลายๆประเทศ ก็มีปัญหาภายใน สิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการ คือสร้างความเข้มแข็งภายใน

โดยที่ผ่านมาผมได้แจ้งให้ทุกท่านทราบไปบ้างแล้ว ว่า มาตรการทางเศรษฐกิจต่างๆ จะต้องเร่งออกมาให้เร็วที่สุด ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคมนี้ จะมีการพิจาณามาตรการเร่งด่วน ดังกล่าวหลักการออกมาตรการเร่งด่วนเบื้องต้น คือ มุ่งกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และต้องเพิ่มรอบการหมุนของเม็ดเงิน กระจายไปยังกลุ่มต่างๆในวงกว้างที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มฐานรากซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่

ขณะเดียวกัน จะเร่งแก้ปัญหาที่กระทบกับชาวบ้านเฉพาะหน้า โดยเฉพาะเรื่องภัยแล้ง และราคาพืชผลการเกษตร

ทั้งนี้มาตรการต่างๆ จะเชื่อมโยงไปกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลางและระยะยาวด้วย ซึ่งรายละเอียดมาตรการทั้งหมด ผมจะขออนุญาตบอกกล่าวและอธิบายเพิ่มเติม หลังมาตรการนั้นๆ ผ่านครม. แล้ว ซึ่งผมให้คำมั่นว่าจะเป็นมาตรการที่เห็นผลและเป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง ขอบคุณครับ #มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ #ครม.เศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงเช้าวันที่ 14 สิงหาคม ระหว่างที่นายอุตตมไปร่วมงานเปิดโครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี นายอุตตมกล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าครม.เศรษฐกิจว่า ยังไม่ทราบว่ามีวาระอะไรเข้าบ้าง คงต้องแล้วแต่ฝ่ายเลขาคือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)จะบรรจุวาระอะไรเข้าบ้าง ในส่วนของกระทรวงการคลังเตรียมมาตรการด้านเศรษฐกิจแล้ว กำลังรอขั้นตอนของการพิจารณา

เมื่อถามว่าขนาดของเงินจะใช้กระตุ้นอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาทหรือไม่ นายอุตตม กล่าวว่า ให้รอดู โดยมาตรการด้านเศรษฐกิจที่กระทวงการคลังเตรียมไว้นั้นทำเป็นแพคเกจเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังผันผวน ซึ่งจะไม่มองถึงปริมาณเงินว่าจะเท่าไหร่ แต่วิธีการ และมาตรการนำมาใช้นั้นตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้ความช่วยเหลือ