“วันนอร์” ยกกรณี “นิกสัน” ลาออก สอน “ประยุทธ์” ย้ำ “ความรับผิดชอบ” ตัวชี้วัดการเป็นผู้นำ

วันที่ 9 สิงหาคม 2562 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ 1 ใน 7 พรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อกระแสข่าวลือการลาออกของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อดีตผู้นำก่อการรัฐประหารและหัวหน้ารัฐบาลทหาร คสช. จากกรณีถวายสัตย์ฯที่มีปัญหาและเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อฐานะของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล แม้ล่าสุดรัฐบาลออกมากลบกระแสลาออกโดยยืนยันว่าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ลาออก ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ ได้กล่าวพร้อมกับหยิบยกกรณีศึกษาว่า

9 สิงหาคม 2517 “ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัก” ของสหรัฐอเมริกา ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวพันกับคดีวอเตอร์เกตอันลือลั่น นับเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาท่านแรกที่ลาออกจากตำแหน่ง

การเป็น “ผู้นำ” จำต้องมีความรับผิดชอบ เพราะความรับผิดชอบนี่เองที่สามารถชี้วัดได้ว่า “ผู้นำ” นั้นดี หรือ ไม่ดี มีประสิทธิภาพ จิตสำนึก มากน้อยเพียงใด 

ยิ่งเป็นผู้นำที่ต้องรับผิดชอบกับกิจการประชาชนด้วยแล้ว ความรับผิดชอบก็ต้องทวีคูณ เพราะการตัดสินใจของผู้นำล้วนส่งผลต่อผู้คนมากมาย หากแนวคิดของผู้นำมีความเห็นผลประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าตนเอง ผู้นำก็ย่อมมีความรับผิดชอบได้ดีไปด้วย

อย่างน้อยความคิดก็คิดได้ว่า “ตนเองนั้นมีหน้าที่รับใช้สังคม” มิใช่แนวคิดที่ว่าผลประโยชน์ของตนเองต้องมาก่อนส่วนรวม เช่นนี้ก็จะตีมูลค่าทางความคิดได้ว่า “สังคมมีหน้าที่ต้องรับใช้ตนเอง” แค่กลับคำนิดหน่อย ผลลัพธ์กลับแตกต่างกันอย่างมหาศาล

สิ่งหนึ่งที่ผู้นำต้องมีไว้คือ “ความกล้า” หลายคนอาจจะมองว่าความกล้าคือความกล้าทำ อันนั้นก็ใช่ แต่หากจะพูดไปอีกว่า แล้วความกล้ารับผิดล่ะ มีมากน้อยเพียงใด ก็วัดได้เช่นกันว่าผู้นำคนนั้นเป็นคนอย่างไร

ความกล้าในการรับผิด ดูดีๆไป ก็เข้าใจว่าเป็นความสง่างามของการรู้แจ้งแห่งธรรมชาติชีวิต ที่ย่อมมีผิดพลาดเป็นธรรมดา หากแต่ในฐานะผู้นำนั้น หากผิดแล้วยังดื้อรั้นว่าไม่ผิด ก็จะยิ่งก่อให้เกิดผลเสียตามมาเป็นแน่นอน เพราะมันอาจจะเป็น “แบบอย่าง” ที่กลายเป็นบรรทัดฐานให้ผู้ตามเอาอย่างได้

ดังนั้น “การยอมรับผิด” ของผู้นำ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่ประการใด กลับกัน กลับกลายเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง เพราะผู้นำเองก็ได้ปกป้องหลักการ เอาตนเองเป็นอุทาหรณ์ สอนใจผู้ตาม ว่าอย่าได้ทำผิดอย่างตนอีก นับว่าเป็นผู้นำที่พร้อมให้บทเรียนที่ดีกับผู้ตามและคนรุ่นหลังต่อไป

“คดีวอเตอร์เกต” เป็นเรื่องเกี่ยวกับการโจรกรรมข้อมูล ในสำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครต ณ อาคารวอเตอร์เกตคอมเพลกซ์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่สอบสวนพบว่าผู้นำในขณะนั้นพยายามปกปิดอะไรหลายๆอย่าง ทั้งแคมเปญในการหาเสียง การระดมทุน ที่มีมูลสำคัญถึงการทุจริต ซึ่งการพิสูจน์ข้อกล่าวหานั้น ทางวุฒิสภาสหรัฐฯได้ยกว่าในห้องทำงานของท่านผู้นำนั้น มีระบบบันทึกเสียง ซึ่งได้ขอให้ศาลออกคำสั่งให้ประธานาธิบดีนิกสันมอบเทปเสียงทั้งหมดเพื่อการสอบสวน และศาลก็เห็นชอบตามคำขอนั้น

ส่งผลให้พยานหลักฐานแน่นหนามากขึ้น ท้ายที่สุดแล้ว “ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน” ก็ประกาศลาออก เพราะ จำนนต่อหลักฐาน รู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งที่ตนเองได้เกี่ยวข้องพัวพันไปนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกทั้งจริยธรรม กฏหมาย ผิดรัฐธรรมนูญ หากจะยื้อดื้ออยู่ต่อ ก็คงไร้ความสง่างาม

ถึงยังไงชื่อเสียงก็คงจะด่างพร้อย และอาจส่งผลเสียในระยะยาวหากว่าชนรุ่นหลังนำบรรทัดฐานที่ตนปฏิบัตินี้ไปเป็นเหตุผลหรือข้ออ้างในการทำผิดรัฐธรรมนูญได้อีก

ความเชื่อที่ว่า “รัฐธรรมนูญ” คือกฏหมายสูงสุดของประเทศ เป็นกติกาที่มหาชนยอมรับ การปฏิบัติตามกฏหมายรัฐธรรมนูญก็นับเป็นหน้าที่ เมื่อมีหน้าที่ก็ต้องมีความรับผิดชอบ ยิ่งหากเป็นผู้นำประเทศ ที่ต้องมีหน้าที่สำคัญและเน้นหนักในการรักษาระเบียบตามรัฐธรรมนูญให้เป็นแบบอย่างแล้ว

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวด้วยว่า หากว่าการปฏิบัติตนของผู้นำผิดหลักรัฐธรรมนูญแล้ว สิ่งที่ผู้นำควรรีบกระทำคือ “การรับผิดชอบ” ต่อหน้าที่ตนเอง ยอมรับผิด แล้วแก้ไข จะเป็นการแสดงความรับผิดชอบด้วยสปิริตทั้งลาออก ก็เป็นตัวอย่างที่ดีว่าได้จัดการแก้ไขด้วยวิธีการที่ถูกต้อง แสดงให้เห็นถึงสติปัญญา ความสามารถ และความกล้าในการรับผิดชอบ อันนี้สำคัญในการจะปกป้องชื่อเสียงของตนเองในฐานะผู้นำที่ดี แต่หากยังดื้อดึงดันว่ารัฐธรรมนูญนั้นก็เขียนไป ตนเองก็จะทำตามใจ แล้วทึกทักไปเองว่าทำตามเจตนารมย์รัฐธรรมนูญแล้ว ก็เห็นว่าเป็นพฤติกรรมดูแคลนมติมหาชนที่ยอมรับรัฐธรรมนูญ และยังถือเป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะถือว่า ตน “ยิ่งใหญ่กว่า” ประชาชน แบบนี้

ผมขอเตือนไว้สำหรับผู้นำประเภทนี้และไม่รีบแก้ไขด้วยดีว่า “ท่านจะเป็นผู้ร้ายในตำนานของประชาชนตลอดไป”